โขน เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความสง่างาม อลังการและอ่อนช้อย การแสดงประเภทหนึ่งที่ใช้ท่ารำตามแบบละครใน แตกต่างเพียงท่ารำที่มีการเพิ่มตัวแสดง เปลี่ยนทำนองเพลงที่ใช้ในการดำเนินเรื่องไม่ให้เหมือนกับละคร แสดงเป็นเรื่องราวโดยลำดับก่อนหลังเหมือนละครทุกประการ ซึ่งไม่เรียกการแสดงเหล่านี้ว่าละครแต่เรียกว่าโขนแทน มีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานจดหมายเหตุลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการกล่าวถึงการแสดงโขนว่า เป็นการเต้นออกท่าทาง ประกอบกับเสียงซอและเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ ผู้แสดงจะสวมหน้ากากปิดบังใบหน้าตนเองและถืออาวุธ
โขน เป็นจุดศูนย์รวมของศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนงเช่น วรรณกรรม วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์ โดยนำเอาวิธีเล่นและการแต่งตัวบางชนิดมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์[5] มีท่าทางการต่อสู้ที่โลดโผน ท่ารำ ท่าเต้นเช่น ท่าปฐมในการไหว้ครูของกระบี่กระบอง รวมทั้งการนำศิลปะการพากย์ การเจรจา หน้าพาทย์และเพลงดนตรีเข้ามาประกอบการแสดง ในการแสดงโขน ลักษณะสำคัญอยู่ที่ผู้แสดงต้องสวมหัวโขน ซึ่งเป็นเครื่องสวมครอบหุ้มตั้งแต่ศีรษะถึงคอ เจาะรูสองรูบริเวณดวงตาให้สามารถมองเห็น แสดงอารมณ์ผ่านทางการร่ายรำ สร้างตามลักษณะของตัวละครนั้น ๆ เช่น ตัวยักษ์ ตัวลิง ตัวเทวดา ฯลฯ ตกแต่งด้วยสี ลงรักปิดทอง ประดับกระจก บ้างก็เรียกว่าหน้าโขน
ในสมัยโบราณ ตัวพระและตัวเทวดาต่างสวมหัวโขนในการแสดง ต่อมาภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงไม่ต้องสวมหัวโขน คงใช้ใบหน้าจริงเช่นเดียวกับละคร แต่งกายแบบเดียวกับละครใน เครื่องแต่งกายของตัวพระและตัวยักษ์ในสมัยโบราณมักมีสองสีคือ สีหนึ่งเป็นสีเสื้อ อีกสีหนึ่งเป็นสีแขนโดยสมมุติแทนเกราะ เป็นลายหนุนประเภทลายพุ่ม หรือลายกระจังตาอ้อย ส่วนเครื่องแต่งกายตัวลิงจะเป็นลายวงทักษิณาวรรตโดยสมมุติเป็นขนของลิงหรือหมี ดำเนินเรื่องด้วยการกล่าวคำนำเล่าเรื่องเป็นทำนองเรียกว่าพากย์อย่างหนึ่ง กับเจรจาเป็นทำนองอย่างหนึ่ง ใช้กาพย์ยานีและกาพย์ฉบัง โดยมีผู้ให้เสียงแทนเรียกว่าผู้พากย์และเจรจา มีต้นเสียงและลูกคู่ร้องบทให้ ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าประกอบการแสดง นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุท ปัจจุบันสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์มีหน้าที่หลักในการสืบทอดการฝึกหัดโขน และกรมศิลปากร มีหน้าที่ในการจัดการแสดง
ลักษณะบทของโขน
ในการแสดงโขน เมื่อเริ่มแสดงวงปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโหมโรงเป็นเพลงเปิด เมื่อจบเพลงจึงจะเริ่มการแสดง ดำเนินเรื่องโดยใช้คำพากย์และคำเจรจาเป็นหลัก การเล่นโขนแต่เดิมไม่มีบทร้องของผู้แสดงเหมือนละครใน ผู้แสดงทุกคนในสมัยโบราณต้องสวมหัวโขน ยกเว้นตัวตลกที่ใช้ใบหน้าจริงในการแสดง ทำให้ต้องมีผู้ทำหน้าที่สำหรับพากย์และเจรจาถ้อยคำต่าง ๆ แทนตัวผู้แสดง ผู้พากย์เสียงนั้นมีความสำคัญในการแสดงโขนเป็นอย่างมาก ต้องเรียนรู้และศึกษาทำความเข้าใจเรื่องราวและวิธีการแสดง จดจำคำพากย์และใช้ปฏิภาณไหวพริบในเชิงกาพย์ กลอน เพื่อสามารถเจรจาให้สอดคล้องถูกต้อง มีสัมผัสนอก สัมผัสในคล้องจองกับการแสดงของผู้แสดง
ลักษณะบทโขนในสมัยโบราณ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ...
1.บทร้อง
2.บทพากย์
3.บทเจรจา
ซึ่งบทร้องนั้นเป็นการร้องกลอนบทละคร ใช้สำหรับแสดงโขนโรงในและโขนฉากเท่านั้น บทพากย์ใช้กาพย์ยานีและกาพย์ฉบัง เมื่อพากย์จบหนึ่งบท ปี่พาทย์จะตีตะโพนท้าและตีกลองทัดต่อจากตะโพนสองที ผู้แสดงภายในโรงจะร้องรับว่า "เพ้ย" พร้อม ๆ กัน ซึ่งคำว่าเพ้ยนี่ สันนิษฐานว่าแต่เดิมนั้น มาจากคำว่า "เฮ้ย" ในการบัญชาศึกสงครามของแม่ทัพนายกอง ค่อย ๆ เพี้ยนเสียงจนกลายเป็นคำว่าเพ้ยในปัจจุบัน สำหรับบทพากย์เป็นคำประพันธ์ชนิดกาพย์ฉบัง 16 หรือกาพย์ยานี 11 บท มีชื่อเรียกแตกต่างกัน วิธีพากย์บทโขนในการแสดง แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ดังนี้
การพากย์เมืองหรือพากย์พลับพลา
ใช้สำหรับพากย์เวลาผู้แสดงตัวเอก หรือผู้แสดงออกท้องพระโรงหรือออกพลับพลา เช่น ทศกัณฐ์ พระรามหรือพระลักษมณ์เสด็จออกประทับในปราสาทหรือพลับพลา โดยมีตัวอย่างบทพากย์กาพย์ฉบัง 16 ตอนเช่น พระรามเสด็จออกพลับพลา รับการเข้าเฝ้าของพิเภก สุครีพ หนุมานและเหล่าเสนาลิง
ภาษาโขน
เป็นการที่ผู้แสดงใช้ท่าเต้นท่ารำต่าง ๆ เพื่อให้สื่อผู้ชมได้รู้ถึงบทบาทนั้น ๆ เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน ภาษาโขนโดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายกับภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ไม่สามารถสื่อสารออกมาด้วยน้ำเสียงได้ จึงใช้ท่าทางและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเช่น ลำตัว มือ แขน ขา เท้า ไหล่ คอ ใบหน้าและศีรษะ ประกอบอากัปกิริยาแทน ทำให้สามารถสื่อสารภาษาและรู้ถึงความหมายนั้น ๆ ได้ ซึ่งท่าทางบางอย่างของภาษาโขนบ่งบอกความหมายได้ดีกว่าการออกเสียงเช่น เมื่อต้องการปฏิเสธจะส่ายศีรษะ
เพลงประกอบการแสดงโขน
1.เพลงหน้าพาทย์ ที่ใช้บรรเลงประกอบกิริยาอาการและบทบาทต่าง ๆ ของโขน
2.เพลงเข้าม่าน ใช้ประกอบการเดินเข้าฉากในระยะใกล้ๆ ของตัวเอก
3.เพลงเสมอ ใช้ประกอบการไปมาในระยะใกล้ๆ
4.เพลงเชิด ใช้ประกอบการไป มาในระยะไกล ๆ และใช้ในการต่อสู้
5.เพลงตระนิมิตร ใช้ประกอบการแปลงกายของตัวหุ่นที่เป็นตัวเอก ๆ
6.เพลงชุบ ใช้ประกอบการเดินของนางกำนัล เช่น เมื่อทศกัณฐ์ใช้นางกำนัลให้ไปตามเบญกาย ปี่พาทย์ก็ทำเพลงชุบ
7.เพลงโลม ใช้ประกอบการโลมเล้าเกี้ยวพาระหว่างตัวแสดงที่เป็นตัวเอก มักต่อด้วยเพลงตระนอน เช่น หนุมานเกี้ยวนางสุพรรณมัจฉา
8.เพลงตระนอน ใช้สำหรับตัวเอกเมื่อจะเข้านอน โดยมาบรรเลงต่อจากเพลงโลม
9.เพลงโอด ใช้ประกอบการเศร้าโศกเสียใจ
10.เพลงโล้ ใช้ประกอบการเดินทางทางน้ำ เช่น เบญกายแปลงเป็นนางสีดาลอยน้ำไป ปี่พาทย์ทำเพลงโล้
11.เชิดฉิ่ง ใช้ประกอบการเดินทาง การเหาะ เช่น เบญจกายเหาะมายังเขาเหมติรัน
12.เชิดกลอง ใช้บรรเลงต่อจากเพลงเชิดฉิ่ง
13.เพลงรัวต่างๆ ใช้ประกอบการแผลงอิทธิฤทธิ์ หรือแปลงตัวอย่างรวบรัด
14.เพลงกราวนอก ใช้ประกอบการยกทัพตรวจพลของกระบวนทัพฝ่ายมนุษย์
15.เพลงกราวใน ใช้ประกอบการยกทัพตรวจพลของกระบวนทัพฝ่ายยักษ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น