วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประเภทของโขน

ประเภทของโขน

การแสดงโขนกลางแปลง เรื่องรามเกียรติ์
โขนเป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มักนิยมแสดงเป็นมหกรรมบูชาเจ้านายชั้นสูงเช่น แสดงในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระศพ แสดงเป็นมหรสพสมโภชเช่น ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และแสดงเป็นมหรสพเพื่อความบันเทิงในโอกาสทั่ว ๆ ไป นิยมแสดงเพียง 3 ประเภทคือ โขนกลางแปลง โขนหน้าจอและโขนฉาก สำหรับโขนนั่งราวหรือโขนโรงนอกไม่นิยมจัดแสดง เนื่องจากเป็นการแสดงโขนที่มีแต่บทพากย์และบทเจรจาเท่านั้น ไม่มีบทร้อง ใช้ราวไม้กระบอกแทนเตียงสำหรับนั่ง และโขนโรงในซึ่งเป็นศิลปะที่โขนหน้าจอนำไปแสดง แต่เดิมไม่มีองค์ประกอบจำนวนมาก ต่อมาภายหลังเมื่อมีความต้องการในการแสดงมากขึ้น โขนจึงมีวิวัฒนาการพัฒนาเป็นลำดับ แบ่งเป็น 5 ประเภทคือ

โขนกลางแปลง
โขนกลางแปลงเป็นการเล่นโขนกลางแจ้ง ไม่มีการสร้างโรงแสดง ใช้ภูมิประเทศและธรรมชาติเป็นฉากในการแสดง ผู้แสดงทั้งหมดรวมทั้งตัวพระต้องสวมหัวโขน นิยมแสดงตอนยกทัพรบ วิวัฒนาการมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์เรื่องกวนน้ำอมฤตที่ใช้เล่นในพิธีอินทราภิเษก ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยนำวิธีการแสดงคือการจัดกระบวนทัพและการเต้นประกอบหน้าพาทย์มาใช้ แต่เปลี่ยนมาเล่นเรื่องรามเกียรติ์แทน มีการเต้นประกอบหน้าพาทย์และอาจมีบทพาทย์และเจรจาบ้าง แต่ไม่มีบทร้อง

เมื่อ พ.ศ. 2339 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีการเล่นโขนในงานฉลองอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมชนกาธิราช โดยโขนวังหน้าเป็นทัพทศกัณฐ์ฝ่ายลงกา และโขนวังหลังเป็นทัพพระรามฝ่ายพลับพลา แลัวยกทัพมาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารความว่า "ในการมหรสพสมโภชพระบรมอัฐิครั้งนั้น มีโขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนวังหลังและวังหน้า แล้วประสมโรงเล่นกันกลางแปลง เล่นเมื่อศึกทศกัณฐ์ยกทัพกับสิบขุนสิบรถ โขนวังหลังเป็นทัพพระราม ยกไปแต่ทางพระบรมมหาราชวัง โขนวังหน้าเป็นทัพทศกัณฐ์ ยกออกจากพระราชวังบวรฯ มาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา ถึงมีปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงกันดังสนั่นไป"

ซึ่งการแสดงโขนในครั้งนั้น เกิดการรบกันจริงระหว่างผู้แสดงทั้งสองฝ่าย จนเกิดการบาดหมางระหว่างวังหน้าและวังหลัง จนกระทั่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ต้องเสด็จมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้แก่วังหน้าและวังหลัง ทั้งสองฝ่ายจึงยอมเลิกบาดหมางซึ่งกันและกัน ทำให้เป็นข้อสันนิษฐานว่าเหตุใดการแสดงโขนกลางแปลงจึงนิยมแสดงตอนยกทัพรบและการรบบนพื้น มีเครื่องดนตรีวงปี่พาทย์ไม่ต่ำกว่าสองวงในการบรรเลง

โขนนั่งราว

การแสดงโขนนั่งราว
โขนนั่งราวหรือเรียกอีกอย่างว่าโขนโรงนอก วิวัฒนาการมาจากโขนกลางแปลง เป็นโขนที่แสดงบนโรงที่ปลูกสร้างขึ้นสำหรับแสดง ตัวโรงมักมีหลังคาคุ้มกันแสงแดดและสายฝน ไม่มีเตียงสำหรับผู้แสดงนั่ง มีเพียงราวทำจากไม้ไผ่วางพาดตามส่วนยาวของโรงเท่านั้น มีช่องให้ผู้แสดงในบทของตัวพระหรือตัวยักษ์ ที่มีตำแหน่งและยศถาบรรดาศักดิ์ สามารถเดินวนได้รอบราวซึ่งสมมุติให้เป็นเตียง ในส่วนผู้แสดงที่รับบทเป็นเสนายักษ์ เขนยักษ์ เสนาลิงหรือเขนลิง คงนั่งพื้นแสดงตามปกติ

มีการพากย์และเจรจา ไม่มีบทขับร้อง วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์เช่น กราวใน กราวนอก ฯลฯ ในการแสดงใช้ปี่พาทย์สำหรับบรรเลงเพลงถึงสองวง เนื่องจากต้องบรรเลงเป็นจำนวนมาก โดยตำแหน่งของปี่พาทย์ตัวแรกจะตั้งอยู่บริเวณหัวโรง ตำแหน่งของปี่พาทย์ตัวที่สองจะตั้งอยู่บริเวณท้ายโรง และกลายเป็นที่มาของการเรียกว่า "วงหัวและวงท้ายหรือวงซ้ายและวงขวา"

โขนโรงใน
โขนโรงในเป็นโขนที่นำศิลปะการแสดงของละครใน เข้ามาผสมผสานระหว่างโขนกับละครใน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 รวมทั้งมีราชกวีภายในราชสำนัก ช่วยปรับปรุงขัดเกลาและประพันธ์บทพากย์ บทเจรจาให้มีความคล้องจอง ไพเราะสละสลวยมากยิ่งขึ้น โดยนำท่ารำท่าเต้น และบทพากย์เจรจาตามแบบโขนมาผสมกับการขับร้อง เป็นการปรับปรุงวิวัฒนาการของโขน

ในการแสดงโขนโรงใน ผู้แสดงเป็นตัวพระ ตัวนางและเทวดา เริ่มที่จะไม่ต้องสวมหัวโขนในการแสดง มีการพากย์และเจรจาตามแบบฉบับของการแสดงโขน นำเพลงขับร้องประกอบอากัปกิริยาอาการของตัวละคร และเปลี่ยนมาแสดงภายในโรงแบบละครในจึงเรียกว่าโขนโรงใน มีปี่พาทย์บรรเลงสองวง ปัจจุบันโขนที่กรมศิลปากรนำออกแสดงนั้น ใช้ศิลปะการแสดงแบบโขนโรงในซึ่งเป็นการแสดงระหว่างโขนกลางแปลงและโขนหน้าจอ

โขนหน้าจอ
การเชิดหนังใหญ่ในการแสดงโขนหน้าจอ
โขนหน้าจอเป็นโขนที่แสดงหน้าจอหนังใหญ่ ซึ่งใช้สำหรับแสดงหนังใหญ่หรือหนังตะลุง โดยผู้แสดงโขนออกมาแสดง สลับกับการเชิดตัวหนัง ที่ฉลุแกะสลักเป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์อย่างสวยงามวิจิตรบรรจง เรียกว่า "หนังติดตัวโขน" ซึ่งในการเล่นหนังใหญ่ จะมีการเชิดหนังใหญ่อยู่หน้าจอผ้าขาวแบบจอหนังใหญ่ ยาว 7 วา 2 ศอก ริมขอบจอใช้ผ้าสีแดงและสีน้ำเงินเย็บติดกัน ใช้เสาจำนวน 4 ต้นสำหรับขึงจอ ปลายเสาแต่ละด้านประดับด้วยหางนกยูงหรือธงแดง มีศิลปะสำคัญในการแสดงคือการพากย์และเจรจา ใช้เครื่องดนตรีปี่พาทย์ประกอบการแสดง ผู้เชิดตัวหนังจะต้องเต้นตามจังหวะดนตรีและลีลาท่าทางของตัวหนัง

นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ภายหลังยกเลิกการแสดงหนังใหญ่คงเหลือเฉพาะโขน โดยคงจอหนังไว้พอเป็นพิธี เนื่องจากผู้ดูนิยมการแสดงที่ใช้คนแสดงจริงมากกว่าตัวหนัง จึงเป็นที่มาของการเรียกโขนที่เล่นหน้าจอหนังว่าโขนหน้าจอ มีการพัฒนาจอหนังที่ใช้แสดงโขน ให้มีช่องประตูสำหรับเข้าออก โดยวาดเป็นซุ้มประตูเรียกว่าจอแขวะ โดยที่ประตูทางด้านซ้ายวาดเป็นรูปค่ายพลับพลาของพระราม ส่วนประตูด้านขวาวาดเป็นกรุงลงกาของทศกัณฐ์ ต่อมาภายหลังจึงมีการยกพื้นหน้าจอขึ้นเพื่อกันคนดูไม่ให้เกะกะตัวแสดงเวลาแสดงโขน สำหรับโขนหน้าจอ กรมศิลปากรเคยจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้รับชมในงานฉลองวันสหประชาชาติที่สนามเสือป่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2491 และงานฟื้นฟูประเพณีสงกรานต์ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 13 เมษายน - 15 เมษายน พ.ศ. 2492[26]

โขนฉาก[แก้]
โขนฉากเป็นการแสดงโขนที่ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรก ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้มีการจัดฉากในการแสดงแบบละครดึกดำบรรพ์ประกอบตามท้องเรื่อง แบ่งเป็นฉากเป็นองก์ เข้ากับเหตุการณ์และสถานที่ จึงเรียกว่าโขนฉาก ปัจจุบันการแสดงโขนของกรมศิลปากร นอกจากจะแสดงโขนโรงในแล้ว ยังจัดแสดงโขนฉากควบคู่กันอีกด้วยเช่น ชุดปราบกากนาสูร ชุดมัยราพณ์สะกดทัพ ชุดนางลอย ชุดนาคบาศ ชุดพรหมาสตร์ ชุดศึกวิรุญจำบัง ชุดทำลายพิธีหุงน้ำทิพย์ ชุดสีดาลุยไฟและปราบบรรลัยกัลป์ ชุดหนุมานอาสา ชุดพระรามเดินดงและชุดพระรามครองเมือง

ซึ่งในการแสดงโขนทุกประเภท มีวิวัฒนาการมายาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน รูปแบบและวิธีการแสดงของโขนได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย แต่คงรูปแบบและเอกลักษณ์เฉพาะของการแสดงเอาไว้

โขนนอกตำรา
นอกจากประเภทของโขนต่าง ๆ ทั้ง 4 ประเภทแล้ว ยังมีการแสดงโขนนอกตำราที่ทางกรมศิลปากรไม่จัดให้รวมอยู่ในประเภทของโขน ได้แก่

โขนสด
โขนสด เป็นการแสดงที่ผสมผสานทางวัฒนธรรม ที่ปรับปรุงมาจากการแสดงโขนให้มีความเรียบง่าย มีการปรับเปลี่ยนลดท่ารำ การแต่งกาย การขับร้อง คำพากย์และการเจรจา เป็นการแสดงที่เกิดจากผสมผสานการแสดง 3 ชนิดคือ โขน หนังตะลุงและลิเก ไม่มีการพากย์เสียงและเจรจา โดยผู้แสดงจะเป็นผู้พูดบทเจรจาเอง แต่งกายยืนเครื่อง สวมหัวโขนบนศีรษะแต่ไม่คลุมหน้า สามารถมองเห็นใบหน้าของผู้แสดงได้อย่างชัดเจน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในชนบท แสดงด้วยกิริยาท่าทางโลดโผน จริงจังกว่าการแสดงโขนมาก

โขนหน้าไฟ
โขนหน้าไฟ เป็นการแสดงโขนที่มักนิยมจัดแสดงในตอนกลางวัน หรือแสดงเฉพาะตอนพระราชทานเพลิงศพ เป็นการแสดงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ โดยมีจุดประสงค์ในการแสดงเพื่อเป็นการแสดงความเคารพและให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิตหรือเจ้าภาพของงาน รวมทั้งเป็นการแสดงคั่นเวลาให้แก่ผู้ที่มาร่วมงานได้ชมการแสดงก่อนถึงเวลาพระราชทานเพลิงจริง แต่เดิมโขนหน้าไฟใช้สำหรับในงานพระราชพิธี รัฐพิธีหรืองานของเจ้านายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง เสนาขุนนางอำมาตย์เช่น งานถวายพระเพลิงพระศพพระบรมวงศ์นานุวงศ์ ณ บริเวณทุ่งพระเมรุหรือท้องสนามหลวง

โขนนอนโรง
โขนนอนโรง เป็นการแสดงโขนที่มักนิยมแสดงในเวลาบ่าย ก่อนวันแสดงจริงของโขนนั่งราว แสดงตอน "เข้าสวนพิราพ" เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น มีปี่พาทย์สองวงในการบรรเลงเพลงโหมโรง แสดงเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ โดยก่อนแสดงจะมีผู้แสดงออกไปเต้นกระทุ้งเสาทั้ง 4 มุมของโรงแสดง ซึ่งการกระทุ้งเสานั้น เป็นการทดสอบความแข็งแรงของเวทีในการรับน้ำหนักตัวของผู้แสดง สมัยก่อนเวทีสำหรับแสดงใช้วิธีขุดหลุมฝังเสาและใช้ดินกลบ ทำให้ระหว่างทำการแสดงเวทีเกิดการทรุดตัว เป็นเหตุผลให้อาจารย์ผู้ทำการฝึกสอน มักให้ผู้แสดงไปเต้นตามหัวเสาทั้ง 4 มุมของเวที เพื่อให้การเต้นนั้นช่วยกระทุ้งหน้าดินที่ฝังเสาไว้ให้เกิดความแน่นมากขึ้น

หลังแสดงเสร็จ ผู้แสดงมักจะนอนเฝ้าโรงแสดงเพื่อแสดงโรงนั่งราวต่อในวันรุ่งขึ้น ในอดีตโขนนอนโรงเคยแสดงมาแล้วสองครั้งคือ ครั้งแรกแสดงในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในงานสมโภชพระเศวตคชเดน์ดิลก และครั้งที่สองในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แสดงที่บริเวณท้องสนามหลวงในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 10 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2475

โขนชักรอก
โขนชักรอก เป็นการแสดงโขนที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้สันนิษฐานได้ว่า โขนชักรอกนั้นมีการตั้งแต่ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นการแสดงโขนในโรงแสดงที่ปลูกขึ้นโดยเฉพาะ ยกพื้นสูงและมีหลังคา แสดงเหมือนกับโขนทุกประการ แตกต่างเพียงแต่ผู้แสดงนั้นสามารถลอยตัวขึ้นไปในอากาศด้วยการชักรอก มีอุปกรณ์ที่ใช้เป็นจำนวนมาก เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โขนชักรอกไม่ค่อยปรากฏให้เห็นมากนัก

กรมศิลปากรเคยจัดแสดงโขนชักรอกให้ประชาชนได้ชม เมื่อคราวงานเทศกาลวัดอรุณราชวราราม ร.ศ. 100 การจัดแสดงโขนชักรอกครั้งนี้ กรมศิลปากรได้ร่วมมือกับบริษัทออร์กาไนเซอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อนอนุรักษ์วัดอรุณและการแสดงที่หายากในปัจจุบัน ระหว่างวันที่ 9 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 เวลา 17.00 - 22.00 น. โดยใช้พื้นที่บริเวณหน้าวัดเป็นโรงแสดง มีพระปรางค์วัดอรุณเป็นฉากหลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น