วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ

ฉากสำคัญของการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ ตอนศึกมัยราพณ์ ฉากหนุมานเมรมิตร่างกายสูง 8 เมตร เพื่ออมพลับพลาที่ประทับ
การแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นการแสดงโขนเนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และคณะกรรมการในการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนและละคร ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการอนุรักษ์และสืบสานการแสดงโขนในด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมของไทยไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา โดยมีท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และ หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี เป็นรองประธานโดยการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรตินั้น นำแสดงโดยนาฏศิลปินชั้นนำจากกองการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรุงเทพมหานคร นักเรียนและนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์ จากทั่วประเทศไทย ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ทั้งหมด 3 ชุด ดังนี้

ศึกพรหมาศ
ศึกพรหมาศ (คำว่า "พรหมาศ" เป็นอักขรวิธีแบบเก่า")  เปิดการแสดงในปี พ.ศ. 2550 ระหว่างวันที่ 24 - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2550 จำนวน 5 รอบ และในปี พ.ศ. 2552 ระหว่างวันที่ 19 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552 จำนวน 6 รอบ โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทอดพระเนตรการแสดงในวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เวลา 19.00 น.[84] ซึ่งการแสดงโขนตอนศึกพรหมาศนั้น คัดเลือกจากบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพรหมาศ บทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยจัดแสดงในรูปแบบของการบรรเลงด้วยวงโยธวาทิตและวงปี่พาทย์มโหรีร่วมบรรเลงมีการแสดงรำประแลงเป็นชุดรำเบิกโรง

เนื้อเรื่องในการแสดง เป็นตอนที่ทศกัณฐ์รู้ว่าแสงอาทิตย์และมังกรกัณฐ์สองหลานรัก พ่ายแพ้และเสียชีวิตในการต่อสู้กับฝ่ายพลับพลาของพระราม จึงรับสั่งให้กาลสูรไปทูลอินทรชิตให้ทรงทราบ และให้เร่งชุบศรพรหมาศเพื่อออกไปต่อสู้ อินทรชิตแสร้งแปลงตนเองเป็นพระอินทร์ และให้การุณราชแปลงกายเป็นช้างเอราวัณ พร้อมสั่งให้จัดโยธาทัพเทพบุตรและเทพธิดา ระบำรำฟ้อนกลางเวหาเพื่อให้พระรามและพระลักษมณ์ รวมทั้งเสนาวานรหลงกล เข้าใจผิดคิดว่าอินทรชิตคือพระอินทร์ จึงชื่นชมในบารมีของพระอินทร์จนลืมป้องกันตนเองและกองทัพ เป็นโอกาสให้อินทรชิตแผลงศรพรหมาศไปต้ององค์พระลักษมณ์และเหล่าเสนาวานรสลบไสลทั้งกองทัพ เหลือแต่หนุมานที่ไม่ต้องศรพรหมาศ จึงเข้าต่อสู้และแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการหักคอช้างเอราวัณ

ระหว่างต่อสู้ หนุมานพลาดพลั้งถูกอินทรชิตฟาดด้วยศรจนสลบ สร้างความยินดีปรีดาให้แก่อินทรชิตและโยธาทัพเป็นอย่างมาก จึงเลิกทัพกลับกรุงลงกาด้วยความหรรษาสราญใจ ต่อมาภายหลัง เมื่อความดังกล่าวทราบถึงพระกรรณของพระราม จึงรีบเสด็จมาช่วยเหลือและพบกับหนุมาน ซึ่งฟื้นคืนชีพมายามเมื่อพระพายพัดมาต้องกาย หนุมานจึงกราบทูลความทั้งหมดให้พระรามทรงทราบ ซึ่งตรัสถามถึงหนทางแก้ไขให้พระลักษณมณ์ที่ต้องศรพรหมาศของอินทรชิตกลับฟื้นคืนชีพ พิเภกจึงบอกวิธีแก้ไข โดยให้หนุมานไปนำสรรพยาจากภูผาอาวุธ เพื่อนำมาปรุงสรรพยาให้พระลักษณ์และเหล่าเสนาวานรฟื้นคืนชีพดังเดิม

นางลอย
นางลอย เปิดการแสดงในปี พ.ศ. 2553 ระหว่างวันที่ 22 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 จำนวน 7 รอบ และระหว่างวันที่ 19 - 24 พฤศจิกายน 2553 จำนวน 7 รอบ ซึ่งในรอบปฐมทัศน์ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เวลา 19.30 น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงซึ่งการแสดงโขนตอนนางลอยนั้น ปรับปรุงจากบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งทรงเรียบเรียงสำหรับใช้ในงานรับแขกบ้านแขกเมือง เมื่อในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีการแสดงรำกิ่งไม้เงินทองเป็นชุดรำเบิกโรง

เนื้อเรื่องในการแสดง เป็นตอนที่ทศกัณฐ์คิดหาหนทางเพื่อจะตัดศึกจากพระราม จึงสั่งให้นางเบญกายแปลงกายเป็นนางสีดาทำทีตายลอยน้ำไปที่หน้าพลับพลาที่ประทับของพระราม เพื่อลวงให้พระรามเข้าใจผิดว่านางสีดาตายและยกทัพกลับ นางเบญกายไม่สามารถขัดขืนคำสั่งได้ จึงขอไปพบนางสีดาที่สวนขวัญท้ายอุทยาน เนื่องจากตนเองนั้นไม่เคยพบเห็นรูปร่างหน้าตาของนางสีดามาก่อน ทศกัณฐ์จึงสั่งให้ตั้งขบวนวอสีวิกากาญจน์และเครื่องยศ นำนางเบญจกายไปสวนขวัญที่ประทับของนางสีดา

ที่สวนขวัญ นางเบญจกายได้เข้าเฝ้านางสีดาพร้อมกับร้องไห้คร่ำครวญว่า ตนเองเป็นบุตรีของพิเภกและนางตรีชฏาข้ารับใช้ของนางสีดา ระหว่างทูลเรื่องราวของตนเองนั้น ได้แอบลอบชำเลืองมองและจดจำรูปโฉมของนางสีดา ครั้นจดจำได้อย่างแม่นยำจึงทูลลากลับ และแปลงกายเป็นนางสีดาไปเข้าเฝ้าทศกัณฐ์ในท้องพระโรง ทศกัณฐ์ครั้นเห็นนางสีดามาเข้าเฝ้า ก็สำคัญผิดคิดว่านางแปลงคือนางสีดาจึงตรงเข้าไปเกี้ยวพาราสีด้วยความเสน่หา สร้างความตลกขบขันให้แก่หมู่เหล่านางกำนัลเป็นอย่างยิ่ง

นางเบญจกายเกิดความอับอายจึงแปลงร่างกลับคืนดังเดิม ทศกัณฐ์เห็นนางสีดากลับคืนร่างเป็นนางเบญจกายก็รู้สึกเก้อเขิน จึงรับสั่งให้นางเบญจกายรีบแปลงร่างเป็นนางสีดา ทำทีตายลอยไปให้พระรามเข้าใจผิดจะได้เลิกทัพกลับไป นางเบญจกายรับคำสั่งและแปลงกายลอยตามน้ำไปยังพลับพลาที่ประทับของพระราม ที่เสด็จออกมาสรงน้ำพร้อมกับพระลักษมณ์และเหล่าเสนาวานรในยามเช้าตรู่ พระรามเมื่อเห็นนางแปลงตายลอยน้ำมา ก็เข้าใจว่านางสีดาถึงแก่ความตาย และกริ้วโกรธหนุมานเป็นอย่างมาก

เนื่องจากเมื่อคราวใช้ให้ไปสืบข่าวนางสีดา หนุมานกระทำเกินรับสั่ง อาละวาดเผากรุงลงกา เป็นเหตุให้ทศกัณฐ์โกรธแค้นจึงสังหารนางสีดา หนุมานสงสัยในนางแปลง ด้วยศพไม่เน่าเปื่อยและยังลอยทวนน้ำ จึงขอพิสูจน์ด้วยการเผาไฟ หากเป็นศพนางสีดาจริงจะยอมให้ประหารชีวิต พระรามจึงสั่งให้ตั้งเชิงตะกอนและนำศพนางสีดาไปเผา นางเบญจกายเมื่อถูกไฟเผาก็ร้อนจนทนไม่ไหว คืนร่างเดิมและเหาะหนีไปตามควันไฟ หนุมานเห็นนางแปลงคืนร่างเดิมและพยายามหลบหนี จึงเหาะตามไปจับตัวมาถวายพระรามเพื่อให้สำเร็จโทษ

ศึกไมยราพณ์

การแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ ตอนศึกมัยราพณ์ ระหว่าง 15 กรกฎาคม - 7 สิงหาคม 2554 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแแห่งประเทศไทย
ศึกมัยราพณ์ เปิดการแสดงในปี พ.ศ. 2554 จำนวน 38 รอบ ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม - 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งในรอบปฐมทัศน์ วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 20.05 น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดง และมีรับสั่งชื่นชมการแสดงโขนชุดนี้ว่า "สวยเหลือเกิน" ในการแสดงโขนตอนศึกมัยราพณ์นั้น ปรับปรุงจากบทโขนชุด "มัยราพณ์สะกดทัพ" ของกรมศิลปากร โดยเพิ่มเติมให้มีความสวยงาม สนุกสนานมากยิ่งขึ้น และในการแสดงครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้นักแสดงรุ่นใหม่ จากวิทยาลัยนาฏศิลป์และสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ที่ผ่านการคัดเลือกร่วมแสดงความสามารถในด้านการแสดงโขน เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติให้คงอยู่สืบต่อไป

นอกจากการคัดเลือกนักแสดงเยาวชนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศไทยแล้ว ศึกมัยราพณ์ยังประกอบด้วยฉากมากมายจำนวนมาก ที่จัดทำขึ้นเฉพาะเป็นพิเศษสำหรับการแสดงครั้งนี้ ด้วยวิธีการผสมผสานแบบเก่า ตามจารีตแบบแผนการแสดงโขนหลวงของกรมมหรสพ และการแสดงแบบสมัยใหม่ ที่มีการใช้เทคนิค แสง สี เสียง ตระการตา เพื่อให้การแสดงแลดูสวยงาม สนุกสนาน สมจริงมากยิ่งขึ้นเช่น ฉากหนุมาน สูง 8 เมตร กว้าง 12 เมตร เนรมิตร่างกายใหญ่โตอมพลับพลาที่ประทับของพระราม ซึ่งสามารถทำให้หนุมานเคลื่อนไหวแขน ปากและกลิ้งกลอกนัยน์ตาไปมาได้ ถือเป็นฉากสำคัญในการแสดงทีเดียว และฉากอีกหลายฉากที่หาชมได้ยาก ควบคุมเทคนิคต่าง ๆ และกำกับการแสดงโดยอาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย รวมทั้งได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่แห่งการแสดงโขน ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก ที่เข้าชมการแสดงกันอย่างท้วมท้น จนต้องเพิ่มรอบการแสดงอีกครั้ง มีการแสดงรำกิ่งไม้เงินทองเป็นชุดรำเบิกโรง

เนื้อเรื่องในการแสดง เป็นตอนที่ทศกัณฐ์พยายามคิดหาทนทางกำจัดพระรามและกองทัพฝ่ายพลับพลา จึงรับสั่งให้นนยวิกและวายุเวกไปพบมัยราพณ์เจ้าผู้ครองเมืองบาดาล ขอให้มัยราพณ์รีบมาช่วยเหลือ มัยราพณ์จึงขึ้นจากเมืองบาดาลมาเข้าเฝ้าทศกัณฐ์ รับอาสาช่วยเหลือในการศึกสงครามครั้งนี้ ด้วยการสะกดทัพให้หลับใหลรวมทั้งจับพระรามไปฆ่าให้ตาย และประกอบพิธีหุงสรรพยา โดยใช้ดวงใจราชสีห์มาผสมปรุงสรรพยา เพื่อลอบเข้าไปสะกดทัพพระราม

แต่เกิดมีเค้าลางบอกเหตุให้แก่พระราม ซึ่งพิเภกได้ทูลว่าพระรามจะมีเคราะห์ และจะพ้นเคราะห์ร้ายเมื่อดาวประกายพรึกส่องแสง หนุมานจึงอาสาพระรามปกป้องพระรามด้วยการเนรมิตร่างกายให้ใหญ่โต เพื่ออมพลับพลาที่ประทับไว้อีกชั้นหนึ่ง มัยราพณ์ลอบขึ้นมาเห็นการป้องกันที่เข้มงวดกวดขันก็แปลกใจ จึงแปลงร่างเป็นลิงเข้าไปปะปนเพื่อสืบข่าว ครั้นรู้ถึงสาเหตุจึงคืนร่างเดิมแล้วเหาะตรงไปยังเขาไกรลาศ พร้อมกับกวัดแกว่งกล้องวิเศษให้เกิดแสงสว่างคล้ายกับแสงของดาวประกายพรึก ลวงให้เหล่าเสนาวานรเข้าใจว่าดาวประกายพรึกขึ้นแล้ว และเข้ามาสะกดทัพจับพระรามไปยังเมืองบาดาล

หนุมานอาสาไปเชิญพระรามกลับมา ระหว่างทางเจอด่านต่าง ๆ เป็นจำนวนมากเช่น ด่านภูเขากระทบกัน ด่านยุงเท่าแม่ไก่ ด่านสระบัว และพบกับมัจฉานุที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนตนเอง แต่มีหางเป็นปลา หนุมานและมัจฉานุเข้าต่อสู้กันหลายครั้งแต่ไม่สามารถเอาชนะกันได้ หนุมานเกิดความแปลกใจจึงไต่ถาม และได้รู้ว่ามัจฉานุคือบุตรชายของตนเองกับนางสุพรรณมัจฉา จึงบอกว่าตนเองนั้นคือบิดาแต่มัจฉานุไม่ยอมรับ หนุมานจึงแสดงตนให้ดู

มัจฉานุยอมรับหนุมานเป็นบิดาและขอโทษที่ล่วงเกิน หนุมานถามถึงหนทางไปเมืองบาดาล แต่มัจฉานุบ่ายเบี่ยงด้วยว่ามัยราพณ์นั้นมีพระคุณกับตน จึงบอกใบ้เป็นปริศนาให้ว่ามาทางไหนก็ให้ไปทางนั้น หนุมานจึงหักก้านบัวแล้วแทรกตัวลงไปเมืองบาดาล และพบกับนางพิรากวน พี่สาวของมัยราพณ์ที่ถูกใช้ให้ออกมาตักน้ำเพื่อใช้สำหรับต้มพระรามและไวยวิกบุตรชาย จึงก่อนแปลงตัวเป็นใยบัวเกาะติดสไบนางพิรากวนลอบเข้าไปในเมือง จนถึงปราสาทที่ประทับและเข้าต่อสู้กับมัยราพณ์

มัยราพณ์ท้าให้ไปประลองกำลังกันที่ดงตาลท้ายเมือง โดยใช้ต้นตาลสามต้น พันเกลียวจนเป็นกระบองพลัดกันตีคนละสามที และให้สัตย์ปฏิญาณต่อกันว่าจะตกลงทำตามสัญญาที่ให้กันไว้ทุกประการ โดยที่มัยราพณ์เป็นฝ่ายตีก่อน แต่หนุมานร่ายเวทย์เสกผงฝุ่นทาตัว ให้ร่างกายอยู่ยงคงกระพัน ทำให้มัยราพณ์ไม่อาจตีหนุมานให้ตายได้ในสามที ด้วยขัตติยะมานะกษัตริย์จึงยอมปฏิบัติตามคำที่ไว้ให้ หนุมานจึงใช้กระบองตาลฟาดจนมัยราพณ์เสียชีวิต แล้วทูลอัญเชิญพระรามเสด็จกลับพลับพลาที่ประทับ ระหว่างทางมีเหล่าเทพบุตร เทพธิดาพากันโปรยข้าวตอกดอกไม้ แซ่สร้องสรรเสริญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น