วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การตั้งเก็บรักษาหัวโขน

การตั้งและการเก็บรักษา

ทวน สำหรับตั้งหัวโขนและครอบป้องกันด้วยลุ้ง
หัวโขนสำหรับใช้สวมใส่ศีรษะในการแสดงโขนนั้น เป็นการแสดงออกทางด้านความสำคัญของตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ มีความประณีตสวยงามตามแบบฉบับของช่างทำหัวโขน ที่สามารถสร้างสรรค์หัวโขนให้มีลักษณะและรูปลักษณ์ที่สื่อถึงเพศ เผ่าพงศ์วงศ์ชาติเชื้อ หรือแม้แต่การแสดงออกด้วยอารมณ์ทางสีหน้า บางหัวสร้างขึ้นเพื่อเป็นการชี้บ่งบุคลิกลักษณะเฉพาะของตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ บางหัวถูกสร้างขึ้นให้เปรียบเสมือนศีรษะของเทพผู้เป็นที่เคารพนับถือ กราบไหว้บูชาเช่น หัวโขนพระพรหม พระอิศวร พระนาราย์ พระพิฆเนศวร เป็นต้น ทำให้ได้รับการยกย่องเป็นของสูงและมงคลวัตถุ มีศักดิ์และความสำคัญเหนือกว่าหัวโขนปกติธรรมดาทั่วไป

หัวโขนเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางด้านศิลปะที่มีเอกลักษณ์และทรงคุณค่าของไทย เป็นสิ่งที่ต้องเก็บรักษาให้คงอยู่ในสภาพดีตลอดเวลา ทะนุถนอมไม่ให้ชำรุดทรุดโทรมเสียหายด้วยการเก็บรักษาไว้ในลุ้ง ซึ่งเป็นภาชนะสำหรับใช้เก็บรักษาหัวโขนโดยเฉพาะ ทั้งก่อนและหลังแสดง แต่เดิมทำด้วยเครื่องจักสาน ลงรัก น้ำหนักเบาเคลื่อยย้ายได้สะดวก ปัจจุบันเปลี่ยนมาทำด้วยสังกะสีแทน ลักษณะรูปทรงกระบอกสั้น ประกอบด้วยตัวลุ้งสำหรับใส่หัวโขนและฝาครอบ กึ่งกลางของลุ้งจะเป็นที่ตั้งทวนหรือหลักเตี้ย ลักษณะเป็นแป้นกลมใช้สำหรับรองรับหัวโขนหรือมงกุฎ ชฎา[12]

ลุ้งแบ่งออกเป็นสองชนิดคือ ลุ้งสำหรับเก็บหัวโขนมีมงกุฎทรงยอดเช่น พญาทูษณ์ มัยราพณ์ พญาขร สัทธาสูร วิรุญจำบัง บรรลัยจักร พิเภก ชิวหา กุเวรนุราช เปาวนาสูร บรรลัยกัลป์ วันยุวิก รามสูร ทศคีรีวัน ทศคีรีธร ทัพนาสูร สวาหุ มารีศ ตรีเมฆ มังกรกัณฐ์ ทศกัณฐ์ ลักษณะของลุ้งชนิดนี้จะเป็นฝารูปกรวยกลมทรงสูงหรือเตี้ย ขึ้นอยู่กับความสูงของมงกุฎ เพื่อให้มีที่ว่างพอสำหรับความสูงของมงกุฎ ไม่ทำให้เกิดความเสียหายเมื่อปิดฝาลุ้ง และลุ้งสำหรับเก็บหัวโขนไม่มีมงกุฎหรือหัวโล้น ที่ฝาครอบมีลักษณะตัดตรงเช่น พาลี สุครีพ หนุมสน ชมพูพาน ชามพูวราช องคต นิลพัท นิลนนท์ เป็นต้น

การเก็บรักษาหัวโขนที่ใช้ในการแสดงนั้น ถ้าไม่เก็บไว้ในลุ้งเพื่อป้องกันความเสียหาย จะต้องนำหัวโขนหน้าต่าง ๆ มาวางไว้บนทวนที่ทำจากไม้ นำมากลึงขึ้นรูปเป็นหลักทวน ฐานมีลักษณะแป้นกลม ตรงปลายทวนมีแป้นสำหรับรองรับหัวโขน สูงประมาณหนึ่งฟุต และต้องตั้งให้อยู่สูงจากพื้นและทางเดิน ไม่นำไปวางไว้ในที่ต่ำที่สามารถเดินข้ามไปมาได้ ไม่ทำหัวโขนร่วงหล่นลงพื้น ไม่ปล่อยให้หัวโขนถูกแมลงสาบกัดแทะ หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการแสดงออกถึงความไม่เคารพในครูบาอาจารย์

เนื่องจากหัวโขนที่ใช้ในการแสดงนั้นถือเป็นของสูงและมีครู ที่ต้องให้ความเคารพบูชาทั้งในเวลาแสดงและเวลาปกติ มักนิยมจัดเก็บโดยการแบ่งออกเป็นพวก ๆ เป็นส่วนสัดเป็นส่วนเช่น ฝ่ายมนุษย์ ฝ่ายยักษ์และฝ่ายลิง โดยเฉพาะหัวโขนหน้ายักษ์และหน้าลิงต้องเก็บรักษาไว้คนละด้าน มีหัวพระฤๅษีภรตมุนีหรือหัวพ่อแก่วางคั่นกลาง ห้ามนำมาเก็บรวมกันโดยเด็ดขาด ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ รวมทั้งห้ามนำหัวโขนหรือเครื่องแต่งกายสำหรับแสดง มาเก็บรักษาไว้ที่บ้านโดยเด็ดขาด ต้องนำไปฝากไว้ที่วัดเท่านั้นเพราะถือกันว่าเป็นของร้อน ถ้าผู้ใดเก็บรักษาไว้จะมีแต่เหตุเดือดร้อนวุ่นวายไม่สิ้นสุด หรือแม้กระทั่งห้ามนำรูปวาดของตัวละครใด ๆ ก็ตามในเรื่องรามเกียรติ์มาเก็บไว้เช่นกัน ปัจจุบันข้อห้ามดังกล่าวได้สูญหายไปตามกาลเวลา ทำให้มีผู้นิยมนำหัวโขนไปเป็นของประดับตกแต่งหรือของที่ระลึกแทน[13]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น