ลักษณะบทโขน
บทเจรจาระหว่างทศกัณฐ์ที่รับสั่งให้กาลสูร ไปทูลเชิญอินทรชิตให้เร่งชุบศรพรหมาศเพื่อออกไปต่อสู้กับพระราม
MENU0:00
ตัวอย่างบทเจรจาระหว่างทศกัณฐ์ที่รับสั่งให้กาลสูร ไปทูลเชิญอินทรชิตให้เร่งชุบศรพรหมาศเพื่อออกไปต่อสู้กับพระราม ในการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติตอน ศึกพรหมาศ บรรเลงโดยวงโยธวาทิต
หากไม่ได้ยินเสียง โปรดดูเพิ่มที่ วิกิพีเดีย:วิธีใช้สื่อ
ในการแสดงโขน เมื่อเริ่มแสดงวงปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโหมโรงเป็นเพลงเปิด เมื่อจบเพลงจึงจะเริ่มการแสดง ดำเนินเรื่องโดยใช้คำพากย์และคำเจรจาเป็นหลัก การเล่นโขนแต่เดิมไม่มีบทร้องของผู้แสดงเหมือนละครใน ผู้แสดงทุกคนในสมัยโบราณต้องสวมหัวโขน ยกเว้นตัวตลกที่ใช้ใบหน้าจริงในการแสดง ทำให้ต้องมีผู้ทำหน้าที่สำหรับพากย์และเจรจาถ้อยคำต่าง ๆ แทนตัวผู้แสดง ผู้พากย์เสียงนั้นมีความสำคัญในการแสดงโขนเป็นอย่างมาก ต้องเรียนรู้และศึกษาทำความเข้าใจเรื่องราวและวิธีการแสดง จดจำคำพากย์และใช้ปฏิภาณไหวพริบในเชิงกาพย์ กลอน เพื่อสามารถเจรจาให้สอดคล้องถูกต้อง มีสัมผัสนอก สัมผัสในคล้องจองกับการแสดงของผู้แสดง
ลักษณะบทโขนในสมัยโบราณ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
บทร้อง
บทพากย์
บทเจรจา
ซึ่งบทร้องนั้นเป็นการร้องกลอนบทละคร ใช้สำหรับแสดงโขนโรงในและโขนฉากเท่านั้น บทพากย์ใช้กาพย์ยานีและกาพย์ฉบัง เมื่อพากย์จบหนึ่งบท ปี่พาทย์จะตีตะโพนท้าและตีกลองทัดต่อจากตะโพนสองที ผู้แสดงภายในโรงจะร้องรับว่า "เพ้ย" พร้อม ๆ กัน ซึ่งคำว่าเพ้ยนี่ สันนิษฐานว่าแต่เดิมนั้น มาจากคำว่า "เฮ้ย" ในการบัญชาศึกสงครามของแม่ทัพนายกอง ค่อย ๆ เพี้ยนเสียงจนกลายเป็นคำว่าเพ้ยในปัจจุบัน สำหรับบทพากย์เป็นคำประพันธ์ชนิดกาพย์ฉบัง 16 หรือกาพย์ยานี 11 บท มีชื่อเรียกแตกต่างกัน วิธีพากย์บทโขนในการแสดง แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ดังนี้
การพากย์เมืองหรือพากย์พลับพลา
ใช้สำหรับพากย์เวลาผู้แสดงตัวเอก หรือผู้แสดงออกท้องพระโรงหรือออกพลับพลา เช่น ทศกัณฐ์ พระรามหรือพระลักษมณ์เสด็จออกประทับในปราสาทหรือพลับพลา โดยมีตัวอย่างบทพากย์กาพย์ฉบัง 16 ตอนเช่น พระรามเสด็จออกพลับพลา รับการเข้าเฝ้าของพิเภก สุครีพ หนุมานและเหล่าเสนาลิง
"ครั้นรุ่งแสงสุริยโอภา พุ่งพ้นเวหา
คิรียอดยุคันธร
สมเด็จพระหริวงศ์ทรงศร ฤทธิ์เลื่องลือขจร
สะท้อนทั้งไตรโลกา
เสด็จออกนั่งหน้าพลับพลา พร้อมด้วยเสนา
ศิโรตมก้มกราบกราน
พิเภกสุครีพหนุมาน นอบน้อมทูลสาร
สดับคดีโดยถวิล"
— บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2
การพากย์รถหรือพากย์พาหนะ
ใช้สำหรับพากย์เวลาผู้แสดงเอ่ยชมพาหนะและการจัดกระบวนทัพเช่น รถ ม้า ช้าง หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นพาหนะ หรือใช้พากย์เวลาผู้แสดงตัวเองทรงพาหนะตลอดจนชมไพร่พล โดยมีตัวอย่างบทพากย์กาพย์ฉบัง 16 เช่น พระราม พระลักษมณ์ ทรงราชรถออกทำศึกกับทศกัณฐ์และเหล่าเสนายักษ์
"เสด็จทรงรถเพชรเพชรพราย พรายแสงแสงฉาย
จำรูญจำรัสรัศมี
อำไพไพโรจน์รูจี สีหราชราชสีห์
ชักรชรถรถทรง
ดุมหันหันเวียนวง กึกก้องก้องดง
เสทือนทั้งไพรไพรวัน
ยักษาสารถีโลทัน เหยียบยืนยืนยัน
ก่งศรจะแผลแผลงผลาญ"
— บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2
การพากย์โอ้หรือการพากย์รำพัน
ใช้สำหรับพากย์เวลาผู้แสดงมีอาการเศร้าโศกเสียใจ รำพันคร่ำครวญถึงคนรัก เริ่มทำนองตอนต้นเป็นการพากย์ ตอนท้ายเป็นทำนองการร้องเพลงโอ้ปี่ ซึ่งการพากย์ประเภทนี้จะให้ปี่พาทย์เป็นผู้รับเมื่อสิ้นสุดการพากย์หนึ่งบท มีความแตกต่างจากการพากย์ประเภทอื่นตรงที่มีเครื่องดนตรีรับ ก่อนที่ลูกคู่จะร้องรับว่าเพ้ย โดยมีตัวอย่างบทพากย์ยานี 11 เช่น พระรามโศกเศร้ารำพันถึงนางสีดา ที่เป็นนางเบญจกายแปลงมาตามคำสั่งทศกัณฐ์ เพื่อให้พระรามเข้าใจว่านางสีดาตาย
"อนิจจาเจ้าเพื่อนไร้ มาบรรลัยอยู่เอองค์
พี่จะได้สิ่งใดปอง พระศพน้องในหิมวา
จะเชิญศพพระเยาวเรศ เข้ายังนิเวศน์อยุธยา
ทั้งพระญาติวงศา จะพิโรธพิไรเรียม
ว่าพี่พามาเสียชนม์ ในกมลให้ตรมเกรียม
จะเกลี่ยทรายขึ้นทำเทียม ต่างแท่นทิพบรรทม
จะอุ้มองค์ขึ้นต่างโกศ เอาพระโอษฐ์มาระงม
ต่างเสียงพระสนม อันร่ำร้องประจำเวร"
— บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2
การพากย์ชมดง
ใช้สำหรับพากย์เวลาผู้แสดงชมสภาพภูมิประเทศ ป่าเขา ลำเนาไพรและสัตว์ป่าน้อยใหญ่ เริ่มทำนองตอนต้นเป็นทำนองร้องเพลงชมดงใน ตอนท้ายเป็นทำนองการพากย์ธรรมดา โดยมีตัวอย่างบทพากย์ฉบัง 16 เช่น พระราม พระลักษมณ์และนางสีดา เอ่ยชมสภาพป่าที่มีความสวยงาม หลังจากออกจากเมืองเพื่อบวชเป็นฤษีในป่า
"เค้าโมงจับโมงมองเมียง คู่เค้าโมงเคียง
เคียงคู่อยู่ปลายไม้โมง
ลางลิงลิงเหนี่ยวลดาโยง ค่อยยุดฉุดโชลง
โลดไล่ในกลางลางลิง
ชิงชังนกชิงกันสิง รังใครใครชิง
ชิงกันจับต้นชิงชัน
นกยูงจับพยูงยืนยัน แผ่หางเหียนหัน
หันเหยีบเลียบไต่ไม้พยูง"
— บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2
การพากย์บรรยาย
ใช้สำหรับพากย์เวลาบรรยายความเป็นมาของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นบริบทการขยายความเป็นมาเป็นไปของสิ่งของนั้น ๆ หรือใช้สำหรับพากย์รำพึงรำพันใด ๆ โดยมีตัวอย่างบทพากย์ฉบัง 16 เช่น การพากย์บรรยายตำนานรัตนธนู คันศรที่พระวิศวกรรมสร้างถวายพระนารายณ์ตอนอวตารมาเป็นพระราม
"เดิมทีธนูรัตน วรฤทธิเกรียงไกร
องค์วิศวกรรมไซร้ ประดิษฐะสองถวาย
คันหนึ่งพระวิษณุ สุรราชะนารายณ์
คันหนึ่งนำทูลถวาย ศิวะเทวะเทวัน
ครั้นเมื่อมุนีทัก- ษะประชาบดีนั้น
กอบกิจจะการยัญ- ญะพลีสุเทวา
ไม่เชิญมหาเทพ ธ ก็แสนจะโกรธา
กุมแสงธนูคลา ณ พิธีพลีกรณ์"
— บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2
การพากย์เบ็ดเตล็ด
ใช้สำหรับพากย์ใช้ในโอกาสทั่ว ๆ ไปในการแสดง เป็นการพากย์เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่จัดอยู่ในการพากย์ประเภทใด รวมทั้งการเอ่ยกล่าวถึงใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหนหรือพูดกับใคร โดยมีตัวอย่างบทพากย์ฉบัง 16 เช่น พระรามสั่งให้หนุมาน องคตและชมพูพาน ไปสืบเรื่องของนางสีดาที่ถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไป และมอบธำมงค์และภูษาไปให้เพื่อเป็นการทดสอบจิตใจของนางสีดาเมื่อได้เห็นสิ่งของดังกล่าว
"ภูวกวักเรียกหนุมานมา ตรัสสั่งกิจจา
ให้แจ้งประจักษ์ใจจง
แล้วถอดจักรรัตน์ธำมรงค์ กับผ้าร้อยองค์
ยุพินทรให้นำไป
ผิวนางยังแหนงน้ำใจ จงแนะความใน
มิถิลราชพารา
อันปรากฏจริงใจมา เมื่อตาต่อตา
ประจวบบนบัญชรไชย"
— บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2
สำหรับบทเจรจานั้น แตกต่างจากบทร้องและบทพากย์ตรงที่เป็นบทกวีแบบร่ายยาว มีการส่งและรับคำสัมผัสอย่างต่อเนื่อง ใช้ถ้อยคำสละสลวย คล้องจอง มีสัมผัสนอกสัมผัสใน บทเจรจาในการแสดงโขนเป็นบทที่คิดขึ้นในขณะแสดง เป็นความสามารถและไหวพริบปฏิภาณเฉพาะตัวของผู้เจรจา ปัจจุบันบทเจรจามีการแต่งเตรียมไว้แล้ว ผู้พากย์บทเจรจาจะว่าตามบทให้เกิดอารมณ์คล้อยตามถ้อยคำ โดยใช้น้ำเสียงในการเจรจาให้เหมาะกับตัวโขน ใส่ความรู้สึกให้เหมาะกับอารมณ์ของตัวละครในเรื่องเช่น เจรจาเสียงเทวดาก็ต้องปรับน้ำเสียงให้นุ่ม สุภาพ เจรจาเสียงยักษ์ก็ต้องปรับเสียงให้ดัง ดุร้ายและแกร่งกร้าว เจรจาตัวนางก็ต้องปรับเสียงให้นุ่ม อ่อนหวาน เป็นต้น
การพากย์บทเจรจาใช้ผู้ชายเป็นผู้ให้เสียงไม่ต่ำกว่าสองคน เพื่อทำหน้าที่ทั้งพากย์และเจรจา บางครั้งมีการเหน็บแนมเสียดสีโต้ตอบระหว่างกัน ถ้าในการแสดงโขนมีบทร้อง ผู้พากย์และเจรจาจะต้องทำหน้าที่บอกบทให้แก่ผู้แสดงอีกด้วย เวลาแสดงผู้พากย์และเจรจาจะยืนประจำจุดต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้เช่น โขงกลางแปลง จะยืนอยู่ใกล้กับจุดของตัวแสดง แบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือมนุษย์และยักษ์ โขนนั่งราวและโขนหน้าจอ จะยืนอยู่บริเวณริมฉากประตูซ้ายและขวาข้างละหนึ่งคน โขนโรงในจะนั่งเรียงติดกับคนร้องข้างละ 2 คน ดังตัวอย่างการบทพากย์และเจรจาระหว่างหนุมานและนางพิรากวน ที่ร้องไห้คร่ำครวญด้วยความเสียใจ ด้วยมัยราพณ์สั่งให้ออกมาตักน้ำเพื่อนำไปต้มพระรามและไวยวิกบุตรชาย ความว่า
"หนุมานชาญศักดา ซุ่มกายาแอบฟังนางร่ำไห้ ได้ยินคำว่าปราศัยถึงพระจักรี ขุนกระบี่นึกสงสัยในวาจา จึงออกมาจากสุมทุมพุ่มพฤกษาเข้าใกล้นาง ทรุดกายลงนั่งข้าง ๆ พลางกราบไหว้ ทักถามว่ามาจากไหนจ๊ะ ป้าจ๋า ไยมาร่ำโศกาน่าสงสาร ถึงตัวฉันเป็นเดรัจฉานสัญจรป่า ก็มีจิตคิดสงสารป้าจับดวงใจ เรื่องทุกข์ร้อนเป็นอย่างไร โปรดเล่าให้ฟังบ้างเถิดป้า หากฉันช่วยได้ฉันก็จะอาสา อย่าโศกี - หนุมาน"
"ขอบใจเจ้ากระบี่ที่เมตตา ตัวเรามีชื่อว่าพิรากวนเทวี เป็นพี่ของมัยราพณ์อสุรีเจ้าบาดาล อันมัยราพณ์มันใจหาญสันดานโฉด ใส่ร้ายป้ายโทษถอดเราลงเป็นไพร่ มิหนำซ้ำจับไวยวิกลูกเราไป หาว่าเป็นกบฏคิดแย่งเมือง เสแสร้งแกล้งก่อเรื่องจับตัวไปขัง เมื่อคืนวานก็ไปสะกดทัพจับพระทรงสังข์มาขังไว้ มันว่าจะผลาญให้บรรลัยพร้อมทั้งลูกรักและพระจักรี ใช้เราให้มาตักนทีใส่กระทะใหญ่ แสนสงสารบุตรสุดอาลัยไม่มีผิด เป็นที่อับจนพ้นจิตคิดแก้ไข ต้องตักน้ำนำเอาไปต้มลูกรัก ถึงแสนเหนื่อยก็ไม่อาจพักเพราะกลัวภัย นางยิ่งเล่ายิ่งอาลัยถึงลูกยา - นางพิรากวน"
"หนุมานชาญศักดาสุดสงสารนางเทวี จึงว่าเรื่องราวที่เล่าในครั้งนี้ ป้าอย่าเสียใจ ฉันจะจำแลงแปลงกายเป็นใยบัวเกาะภูษา เพื่อเข้าไปสังหารผลาญชีวินมัยราพณ์ให้สิ้นชีวา ว่าพลางทางจำแลงแปลงกายาในทันที - หนุมาน"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น