ในการคัดเลือกผู้แสดงและฝึกหัดโขน แต่เดิมจะใช้นักเรียนชายทั้งหมดตามแบบประเพณีโบราณ อาจารย์ผู้ทำการฝึกหัดจะทำการคัดเลือกผู้แสดงที่จะหัดเป็นตัวละครต่าง ๆ เช่น พระราม นางสีดา หนุมาน ทศกัณฐ์ เป็นต้น ตามปกติในการแสดงโขน จะประกอบด้วยตัวละครที่มีลักษณะแตกต่างกัน 4 จำพวกได้แก่
ตัวพระ
ตัวนาง
ตัวยักษ์
ตัวลิง
ซึ่งตัวโขนแต่ละจำพวกนี้ ผู้ฝึกหัดจะต้องมีลักษณะรูปร่างเฉพาะเหมาะสมกับตัวละคร มีการใช้สรีระร่างกาย และท่วงท่ากิริยาเยื้องย่างในการร่ายรำ การแสดงท่าทางประกอบการพากย์ การแต่งกายและเครื่องประดับที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังนี้
ตัวละครในการแสดงโขน
ตัวพระและตัวนาง ที่คัดเลือกจากผู้ที่มีลักษณะเหมาะสม ต้องตามวรรณคดีไทย
ตัวพระ
การคัดเลือกตัวพระสำหรับการแสดง จะคัดเลือกผู้ที่ลักษณะใบหน้ารูปไข่ สวยงาม คมคายเด่นสะดุดตา ท่าทางสะโอดสะองและผึ่งผาย ลำคอระหง ไหล่ลาดตรง ช่วงอกใหญ่ ขนาดลำตัวเรียว เอวเล็กกิ่วคอดตามลักษณะชายงามในวรรณคดีไทยเช่น พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ พระลอ สังคามาระตา ฯลฯ สวมพระมหามงกุฏหรือมงกุฎยอดชัย ห้อยดอกไม้เพชรด้านขวา สำหรับการแสดงโขนที่มีตัวละครเอกที่เป็นตัวพระ 2 ตัวหรือมากกว่านั้น และมีบทบาทในการแสดงสำคัญเท่า ๆ กัน แบ่งเป็นพระใหญ่หรือพระน้อย ซึ่งพระใหญ่ในการแสดงโขนหมายถึงพระเอก มีบุคลิกลักษณะเหนือกว่าพระน้อย เช่น ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ พระรามเป็นพระใหญ่ และพระลักษมณ์เป็นพระน้อย หรือตอนพระรามครองเมือง พระรามเป็นพระใหญ่ พระลักษมณ์ พระพรตและพระสัตรุตเป็นพระน้อย เป็นต้น
ตัวนาง
การคัดเลือกตัวนางสำหรับการแสดง ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตัวละครที่เป็นตัวนางนั้นมีเป็นจำนวนมากเช่น เป็นมนุษย์ได้แก่ นางสีดา นางมณโฑ นางไกยเกษี นางเกาสุริยา เป็นเทพหรือนางอัปสรได้แก่ พระอุมา พระลักษมี เป็นกึ่งมนุษย์กึ่งสัตว์ได้แก่ นางสุพรรณมัจฉา นางกาลอัคคีนาคราช นางองนค์นาคี และเป็นยักษ์ซึ่งในที่นี้หมายถึงยักษ์ที่มีลักษณะรูปร่างเหมือนกับตัวนางทั่วไป ไม่ได้มีรูปร่างและใบหน้าเหมือนกับยักษ์ได้แก่ นางเบญจกาย นางตรีชฏา นางสุวรรณกันยุมา และยักษ์ที่มีลักษณะใบหน้าเหมือนยักษ์แต่สวมหัวโขนได้แก่ นางสำมะนักขา อากาศตะไล ฯลฯ ซึ่งตัวละครเหล่านั้นสามารถบ่งบอกชาติกำเนิดของตนเองได้ จากสัญลักษณ์ของการแต่งกายและเครื่องประดับ
สำหรับตัวนางนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ ตัวนางที่เป็นนางกษัตริย์และนางตลาด ซึ่งนางกษัตริย์จะคัดเลือกจากผู้ที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับตัวพระ สวมมงกุฏ ห้อยดอกไม้เพชรด้านซ้าย กิริยามารยาทเรียบร้อย สุภาพ นุ่มนวลอ่อนหวานตามลักษณะหญิงงามในวรรณคดีเช่นกัน ยามแสดงอาการโศกเศร้าหรือยิ้มแย้มดีใจ ก็จะกรีดกรายนิ้วมือแต่เพียงพองาม ส่วนนางตลาดนั้นจะคัดเลือกจากผู้ที่มีท่าทางกระฉับกระเฉง คล่องแคล่วว่องไว มีจริต สามารถแสดงกิริยาท่าทางต่าง ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ
ตัวยักษ์
การคัดเลือกตัวยักษ์สำหรับการแสดง จะคัดเลือกผู้ที่มีลักษณะคล้ายกับตัวพระ รูปร่างสูงใหญ่ วงเหลี่ยมของผู้แสดงเป็นตัวยักษ์ตลอดจนถึงการทรงตัวต้องดูแข็งแรง กิริยาท่าทางการเยื้องย่างแลดูสง่างาม โดยเฉพาะผู้แสดงเป็นทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องรามเกียรติ์ จะฝึกหัดเป็นพิเศษเพราะถือกันว่าหัดยากกว่าตัวอื่น ๆ ต้องมีความแข็งแรงของช่วงขาเป็นอย่างมาก เนื่องจากในการแสดงจะต้องย่อเหลี่ยมรับการขึ้นลอยของตัวพระและตัวลิง ทศกัณฐ์เป็นตัวละครที่มีท่วงท่าลีลามากมายเช่น ยามโกรธเกรี้ยวจะกระทืบเท้าตึงตังเสียงดังโครมคราม หันหน้าหันหลังแสดงอารมณ์ด้วยกิริยาท่าทาง ยามสบายใจหรือดีใจ ก็จะนั่งกระดิกแขนกระดิกขา เป็นต้น
ยามแสดงความรักด้วยลีลาท่าทางกรุ้มกริ้มหรือเขินอาย ก็จะแสดงกิริยาในแบบฉบับของยักษ์เช่น ตอนทศกัณฐ์สำคัญผิดคิดว่านางเบญกาย ซึ่งแปลงเป็นนางสีดามาเข้าเฝ้าในท้องพระโรง จึงออกไปเกี้ยวพาราสีนางสีดาแปลง จนกลายเป็นที่ขบขันของเหล่านางกำนัล กิริยาท่าทางของทศกัณฐ์ยามขวยเขิน จะแสดงลีลาด้วยการส่ายไหล่ ปัดภูษาเครื่องทรงและชายไหวชายแครง มีท่าทางเก้อเขินอย่างเห็นได้ชัด ประกบฝ่ามือบริเวณอก ถูไปมาแล้วปัดใบหน้า กิริยาท่าทางของทศกัณฐ์ในตอนนี้ จะใช้ทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่ศีรษะ ลำคอ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ไหล่และลำตัว ซึ่งเป็นการแสดงท่ารำที่ขัดกับบุคลิกที่สง่าของทศกัณฐ์เป็นอย่างมาก
ตัวลิง
การคัดเลือกตัวลิงสำหรับการแสดง จะคัดเลือกผู้ที่มีลักษณะท่าทางไม่สูงมากนัก กิริยาท่าทางคล่องแคล่วว่องไวตามแบบฉบับของลิง มีการดัดโครงสร้างของร่างกายให้อ่อน ซึ่งลีลาท่าทางของตัวลิงนั้นจะไม่อยู่นิ่งกับที่ ตีลังกาลุกลี้ลุกลนตามธรรมชาติของลิง สำหรับผู้ที่จะหัดเป็นตัวลิงนั้น ตามธรรมเนียมโบราณมักเป็นผู้ชาย โดยเริ่มหัดตั้งแต่อายุ 8-12 ขวบ เป็นต้น ในอดีตจะมีการฝึกเฉพาะเด็กผู้ชาย ปัจจุบันวิทยาลัยนาฏศิลป์ได้เริ่มให้มีการคัดเลือกเด็กผู้หญิง เข้ารับการฝึกเป็นตัวลิงแล้ว เรียกว่า "โขนผู้หญิง" ในการการฝึกตัวลิงให้สามารถแสดงเป็นตัวเอกได้ดีนั้น จะต้องใช้เวลา 10 ปีขึ้นไปเป็นอย่างน้อย
ในการฝึกท่าพื้นฐานในการหัดเป็นตัวลิง ผู้แสดงจะต้องฝึกความแข็งแกร่งและความอดทนของร่างกายเป็นอย่างมาก โดยเริ่มหัดเทคนิคกระบวนท่าพื้นฐานธรรมดาเป็นระยะเวลา 2 ปี และเริ่มพัฒนาในการฝึกเทคนิคกระบวนท่าเฉพาะอีก 5 ปี ปัจจุบันในการแสดงโขน ผู้แสดงเป็นตัวลิงเช่นหนุมาน องคต ชมพูพาน จะมีการแต่งเติมเทคนิคลีลาเฉพาะตัวของลิงเพิ่มเติมเข้าไปด้วย เพื่อเป็นการแสดงออกถึงลักษณะท่าทางเฉพาะของลิง
การฝึกหัดโขน
ตัวลิง ที่มีการฝึกเฉพาะเพื่อให้มีทักษะคล่องแคล่วว่องไว โลดโผดตามธรรมชาติของลิง
ซึ่งการฝึกหัดโขนนั้น ผู้ฝึกหัดโขนทุกคนจะต้องนุ่งโจงกระเบนสีแดงสวมเสื้อขาว เนื่องจากเป็นกฎระเบียบข้อบังคับ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการฝึกหัดนาฎศิลป์ภายในวังสวนกุหลาบ โดยอาจารย์ลมุล ยมะคุป ข้าหลวงในวังสวนกุหลาบเป็นผู้กำหนดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 เนื่องจากมีราคาไม่แพง และสามารถควบคุมผู้ฝึกหัดให้เป็นหมวดหมู่ได้อย่างง่าย เมื่อคัดเลือกผู้แสดงได้แล้วจะเริ่มฝึกหัดโขนขั้นพื้นฐาน ดังนี้
การนั่ง
เป็นการหัดโดยนั่งพับเพียบ เอวและไหล่ตึงแลดูสง่างาม มีการดัดปลายนิ้วและช่วงแขนให้งอนงาม ตัวพระ ตัวยักษ์และตัวลิงจะหัดนั่งพับเพียบและแบะเข่าออก ต่างจากตัวนางที่หัดนั่งพับเพียบ หนีบหน้าขาซ้อนทับกันลดหลั่นกันไป รวมทั้งมีการดัดร่างกาย แขนขาในกิริยาท่าทางต่าง ๆ เช่น ดัดแขนและข้อมือ ดัดหลัง การเดิน การย่างก้าวและการยกเท้า เป็นต้น
การฝึกรำและท่องจำจังหวะ
ภายหลังจากผู้แสดงฝึกหัดขั้นพื้นฐานแล้ว จะเป็นการฝึกหัดให้ท่องจังหวะและฝึกรำหน้าทับประกอบเพลงช้าและเพลงเร็ว ฝึกให้ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์และตัวลิง หัดรำแม่บทและแม่ท่า รำตีบทหรือรำตามบท รำหน้าพาทย์ รำอาวุธและรำเบ็ดเตล็ด ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการหัดให้ผู้แสดงฝึกหัดใช้โสตประสาทของตนเอง ให้เรียนรู้จักจังหวะได้อย่างถูกต้องและมีความงดงามตามแบบฉบับของภาษานาฏศิลป์ นอกจากนั้นยังมีการฝึกท่ารำตัวยักษ์และตัวลิงอีกด้วย โดยเฉพาะการฝึกแม่ท่าของตัวลิง มีการฝึกด้วยกันทั้งหมด 7 แม่ท่า และตัวยักษ์ 6 แม่ท่า
ซึ่งแม่ท่าดังกล่าว เป็นแม่ท่าสำคัญที่ตัวลิงและตัวยักษ์จะใช้ตอนออกกราวนอก หรือใช้ในการแสดงในโอกาสต่าง ๆ นอกจากแม่ท่าที่สำคัญแล้ว ตัวลิงจะฝึกท่ามองในท่าเสี้ยว ท่าคว้า ท่าขู่ ท่าหย่อง ท่าเกา ซึ่งแยกออกเป็นท่าเกาต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมากเช่น เกาคาง เกาหัวเข่า เกาเอว จับหมัด ดมแมลง เป็นต้น ตัวยักษ์จะฝึกท่ารบหนึ่งหรือท่าจับ ท่ารบสองหรือเรียกกันในวงการนาฏศิลป์ว่า "สามทีไขว้" ท่าหกกัด ท่าหกฉีก-หกฉีกต่อเนื่อง และท่าขึ้นลอยหรือท่าลอยระหว่างตัวลิงและตัวพระ
การฝึกตบเข่า ถีบเหลี่ยม ถองสะเอว ฉีกขา หกคะเมนและเต้นเสา
ในการฝึกหัดระยะแรก ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์และตัวลิง จะฝึกหัดร่วมกันคือฝึกตบเข่า ถองสะเอวและเต้นเสา เพื่อให้รู้จักจังหวะและเคยชินกับเสียงดนตรี ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการฝึกนาฎศิลป์ไทย เรียนรู้การยักเยื้องลำตัว ยักหน้า ยักคอ ยักไหล่ได้อย่างคล่องแคล่ว โดยมีกลองให้จังหวะออกเสียง มีกำลังขาคงที่ ฝึกกระทืบเท้าให้หนักแน่น ฝึกเต้นตามจังหวะ ซึ่งการเต้นตามจังหวะนั้นเรียกว่า "ตะลึกตึก" ที่เป็นศัพท์เฉพาะทางวิชาการของโขน การเต้นตะลึกตึกคือการย่อเข่าทั้งสองข้างลงให้เป็นมุมฉาก ใช้เท้าขวายกกระทืบลงกับพื้น 1 ครั้ง วางเท้าอยู่กับที่ ใช้เท้าซ้ายยกลงกระทืบลงกับพื้น 1 ครั้ง แล้ววางอยู่กับที่ โดยการเต้นนั้น ผู้แสดงจะใช้เท้าขวาหรือซ้ายยกกระทืบพื้นก่อนก็ได้
การฝึกเต้นเสานั้น เป็นการหัดให้ผู้แสดงตัวพระ ตัวยักษ์และตัวลิงยกเว้นเฉพาะตัวนาง ใช้จังหวะเท้าในการเต้นให้มีความสม่ำเสมอ มีกำลังขาแข็งแรง กระทืบฝ่าเท้าทุกส่วนลงกับพื้นโดยพร้อมเพรียงและมีน้ำหนักเท่า ๆ กัน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการฝึกหัดโขน การเต้นเสาจะต้องยกขาและดึงส้นเท้าให้สูง เกร็งหน้าขา ยกสลับขาซ้ายและขวาตามจังหวะ และเมื่ออาจารย์ผู้ฝึกสอนสั่งให้หยุด ผู้ฝึกหัดจะต้องจบด้วยท่านิ่ง ลักษณะร่างกายและศีรษะต้องตั้งตรง ขาตั้งให้ได้เหลี่ยม รวมทั้งมีการฝึกถีบเหลี่ยม เป็นการคัดส่วนขาให้สามารถตั้งเหลี่ยมได้ฉากและมั่นคง ทำให้ผู้แสดงเมื่อย่อเหลี่ยมจะมีทรวดทรงที่สวยงามตามลักษณะประเภทของตัวโขน หัดบังคับและควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ให้อยู่ในท่าที่ต้องการ ฝึกขา แขน และอกให้อยู่ในระดับคงที่
นอกจากนั้นจะเป็นการฝึกเฉพาะสำหรับผู้ที่แสดงเป็นตัวลิงคือ ฝึกฉีกขา หกคะเมนตีลังกา ม้วนหน้าม้วนหลัง พุ่งม้วนสามตัว ตีลังกาหน้าและหลัง เพื่อให้มีทักษะคล่องแคล่วว่องไว โลดโผดตามธรรมชาติของลิงที่ไม่อยู่นิ่ง โดยมีท่าหกคะเมนที่ใช้ในการฝึก 3 ท่าคือ
ท่าหกคะเมนหงายตัวไปด้านหลัง เรียกว่า "ตีลังกาหกม้วน"
ท่าหกคะเมนหงายตัวไปด้านหนั เรียกว่า "อันธพา"
ท่าหกคะเมนหมุนตัวไปข้าง ๆ เรียกว่า "พาสุริน"
หลังจากคัดเลือกผู้แสดงแล้ว อาจารย์ผู้ฝึกสอนจะทำพิธีไหว้ครูและรับตัวผู้แสดงทั้งหมดเข้าเป็นศิษย์ในวันพฤหัสบดีที่ทางนาฎศิลป์ไทยถือเป็นวันครู โดยผู้แสดงจะนำดอกไม้ธูปเทียน เป็นเครื่องสักการะแก่อาจารย์ผู้ฝึกสอน และเป็นการทำความเคารพต่อครูบาอาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น