วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประวัติดนตรีตะวันตก

ยุคสมัยของดนตรีตะวันตก

      เนื่องจากโครงสร้างของดนตรีตะวันตกมีการพัฒนาเปลี่ยนไปเสมอ   ตามแนวความคิดของผู้ประพันธ์เพลง      จึงทำให้เกิดเป็นลักษณะของดนตรีในแต่ละยุคขึ้นมา   การศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของบทเพลงในแต่ละยุค จะช่วยให้ทีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างของดนตรีในแต่ละยุค ดังนี้
1. ยุคกลาง (Middle Ages)
        ยุคนี้คือ ช่วงเวลาระหว่างศตวรรษที่ 5-15 (ราว ค.ศ. 450-1400) อาจเรียกว่า ยุคเมดิอีวัล  (Medieval Period) ดนตรีในยุคนี้เป็น vocal polyphony คือ เป็นเพลงร้องโดยมีแนวทำนองหลายแนวสอดประสานกัน    ซึ่งพัฒนามาจากเพลงสวด (Chant) และเป็นเพลงแบบมีทำนองเดียว  (Monophony)  ในระยะแรกเป็นดนตรีที่ไม่มีอัตราจังหวะ (Non-metrical) ในระยะต่อมาใช้อัตราจังหวะ ¾ ต่อมาในศตวรรษที่ 14 มักใช้อัตราจังหวะ 2/4  เพลงร้องพบได้ทั่วไป    และเป็นที่นิยมมากกว่าเพลงที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรี   รูปแบบของเพลงเป็นแบบล้อทำนอง (Canon) นักดนตรีที่ควรรู้จักคือ มาโซท์และแลนดินี
2. ยุครีเนซองค์ (Renaissance Period)
        เป็นดนตรีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 (ราว ค.ศ. 1450-1600) การสอดประสาน(Polyphony) ยังเป็นลักษณะของเพลงในยุคนี้โดยมีการล้อกันของแนวทำนองเดียวกัน (Imitative style)ลักษณะบันไดเสียงเป็นแบบโหมด(Modes)  ยังไม่นิยมแบบบันไดเสียง(Scales)  การประสานเสียงเกิดจากแนวทำนองแต่ละแนวสอดประสานกัน   มิได้เกิดจากการใช้คุณสมบัติของคอร์ด   ลักษณะของจังหวะมีทั้งเพลงแบบมีอัตราจังหวะ   และไม่มีอัตราจังหวะ    ลักษณะของเสียงเกี่ยวกับความดังค่อย   ยังมีน้อยไม่ค่อยพบ    ลักษณะของเพลงมีความนิยมพอๆกัน  ระหว่างเพลงร้องและบรรเลงด้วยเครื่องดนตรี   เริ่มมีการผสมวงเล็กๆ เกิดขึ้น  นักดนตรีที่ควรรู้จักคือ จอสกิน-เดอส์  เพรซ์  ปาเลสตรินา  และเบิร์ด
3. ยุคบาโรค (Baroque Period)
        เป็นยุคของดนตรีในระหว่างศตวรรษที่17-18 (ราว ค.ศ. 1600-1750) การสอดประสาน   เป็นลักษณะที่พบได้เสมอในปลายยุค    ช่วงต้นยุคมีการใช้ลักษณะการใส่เสียงประสาน(Homophony) เริ่มนิยมการใช้เสียงเมเจอร์   และไมเนอร์   แทนการใช้โหมดต่างๆ การประสานเสียงมีหลักเกณฑ์เป็นระบบ   มีการใช้เสียงหลัก (Tonal canter) อัตราจังหวะเป็นสิ่งสำคัญของบทเพลง    การใช้ลักษณะของเสียงเกี่ยวกับความดังค่อย  เป็นลักษณะของความดัง-ค่อย   มากกว่าจะใช้ลักษณะค่อยๆ ดังขึ้นหรือค่อยๆลง  (Crescendo, diminuendo)ไม่มีลักษณะของความดังค่อยอย่างมาก (Fortissimo, pianisso)  บทเพลงบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีเป็นที่นิยมมากขึ้น     บทเพลงร้องยังคงมีอยู่และเป็นทีนิยมเช่นกัน   นิยมการนำวงดนตรีเล่นผสมกับการเล่นเดี่ยวของกลุ่ม  เครื่องดนตรี 2-3 ชิ้น(Concerto grosso) นักดนตรีที่ควรรู้จัก คือ มอนเมแวร์ดี  คอเรลลี วิวัลดี  บาค ฮันเดล
4. ยุคคลาสสิค (Classical period)
        เป็นยุคที่ดนตรีมีกฎเกณฑ์แบบแผนอย่างมาก   อยู่ในระหว่างศตวรรษที่ 18  และช่วงต้นศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1750-1825) การใส่เสียงประสานเป็นลักษณะเด่นของยุคนี้   การสอดประสานพบได้บ้างแต่ไม่เด่นเท่าการใส่เสียงประสาน    การใช้บันไดเสียงเมเจอร์ และไมเนอร์   เป็นหลักในการประพันธ์เพลง    ลักษณะของบทเพลงมีความสวยงามมีแบบแผน  บริสุทธิ์  มีการใช้ลักษณะของเสียงเกี่ยวกับความดังค่อยเป็นสำคัญ    ลีลาของเพลงอยู่ในขอบเขตที่นักประพันธ์ในยุคนี้ยอมรับกัน   ไม่มีการแสดงอารมณ์   หรือความรู้สึกของผู้ประพันธ์ไว้ในบทเพลงอย่างเด่นชัด   การผสมวงดนตรีพัฒนามากขึ้น   การบรรเลงโดยใช้วงและการเดี่ยวดนตรีของผู้เล่นเพียงคนเดียว( Concerto)เป็นลักษณะที่นิยมในยุคนี้   บทเพลลงประเภทซิมโฟนีมีแบบแผนที่นิยมกันในยุคนี้เช่นเดียวกับ        เพลงเดี่ยว(Sonata)  ด้วยเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ บทเพลงบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีที่นิยมเป็นอย่างมาก    บทเพลงร้องมีลักษณะซับซ้อนกันมากขึ้น  เช่นเดียวกับบทเพลงบรรเลงด้วยเครื่องดนตรี    นักดนตรีที่ควรรู้จักในยุคนี้ คือ กลุค  ไฮเดิน  โมทซาร์ท  และเบโธเฟน
5. ยุคโรแมนติด(Romantic period)
        เป็นยุคของดนตรีระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ราว ค.ศ. 1825-1900) ลักษณะเด่นของดนตรีในยุคนี้ คือ เป็นดนตรีที่แสดงความรู้สึกของนักประพันธ์เพลงเป็นอย่างมาก   ฉะนั้นโครงสร้างของดนตรีจึงมีหลากหลายแตกต่างกันไปในรายละเอียด   โดยการพัฒนาหลักการต่างๆ ต่อจากยุคคลาสสิก  หลักการใช้บันไดเสียงไมเนอร์และเมเจอร์   ยังเป็นสิ่งสำคัญ    แต่ลักษณะการประสานเสียงมีการพัฒนาและคิดค้นหลักใหม่ๆ ขึ้นอย่างมากเพื่อเป็นการสื่อสารแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกของผู้ประพันธ์เพลง    การใส่เสียงประสานจึงเป็นลักษณะเด่นของเพลงในยุคนี้    บทเพลงมักจะมีความยาวมากขึ้น   เนื่องจากมีการขยายรูปแบบของโครงสร้างดนตรี   มีการใส่สีสันของเสียงจากเครื่องดนตรีเป็นสื่อในการแสดงออกทางอารมณ์   ลักษณะการผสมวงพัฒนาไปมาก    วงออร์เคสตร้ามีขนาดใหญ่มากขึ้นกว่าในยุคคลาสสิค   บทเพลงมีลักษณะต่างๆกันออกไป เพลงซศิมโฟนี โซนาตา และเซมเบอร์มิวสิก   ยังคงเป็นรูปแบบที่นิยมนอกเหนือไปจากเพลงลักษณะอื่นๆ เช่น Prelude, Etude,Fantasia เป็นต้น   นักดนตรีที่ควรรู้จักในยุคนี้มีเป็นจำนวนมาก  เช่น  เบโธเฟน  ชูเบิร์ต  โชแปง  ลิสซท์  เมนเดลซอน  เบร์ลิโอส  ชูมานน์  แวร์ดี   บราหมส์   ไชคอฟสี  ริมสกี-คอร์สคอฟ  รัคมานินอฟ  ปุกซินี  วากเนอร์  กรีก   ริชาร์ด  สเตราห์   มาห์เลอร์  และซิเบลุส  เป็นต้น
6. ยุคอิมเพรสชั่นนิสติค  (Impressionistic Period หรือ Impressionism)
        เป็นดนตรีอยู่ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1890 – 1910 ลักษณะสำคัญของเพลงยุคนี้คือ   ใช้บันไดเสียงแบบเสียงเต็ม  ซึ่งทำให้บทเพลงมีลักษณะลึกลับ   คลุมเครือไม่กระจ่างชัด    เนื่องมาจากการประสานเสียงโดยใช้ในบันไดเสียงแบบเสียงเต็ม   บางครั้งจะมีความรู้สึกโล่งๆว่างๆ  เสียงไม่หนักแน่น  ดังเช่น   เพลงในยุคโรแมนติก     การประสานเสียงไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์    ในยุคก่อนๆ สามารถพบการประสานเสียงแปลก ๆ ไม่คาดคิดได้ในบทเพลงประเภทอิมเพรสชั่นนิซึม   รูปแบบของเลงเป็นรูปแบบง่าย   มักเป็นบทเพลงสั้นๆ รวมเป็นชุด  นักดนตรีที่ควรรู้จัก   คือ  เดอบูสซี   ราเวล  และเดลิอุส
7. ยุคศตวรรษที่ 20(Contemporary Period)
        ดนตรีในยุคศตวรรษที่ 20 เป็นยุคของการทดลองสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ  และนำเอาหลักการเก่าๆ มากพัฒนาเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้เข้ากับแนวความคิดในยุคปัจจุบัน   เช่น  หลักการเคาเตอร์พอยต์   (Counterpoint) ของโครงสร้างดนตรีแบบการสอดประสาน   มีการใช้ประสานเสียงโดย     การใช้บันไดเสียงต่างๆ รวมกัน (Polytonatity) และการไม่ใช่เสียงหลักในการแต่งทำนองหรือประสานเสียงจึงเป็นเพลงแบบใช้บันไดเสียง 12 เสียง(Twelve-tone scale)ซึ่งเรียกว่า Atonality อัตราจังหวะที่ใช้ทีการกลับไปกลับมา    ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การใช้การประสานเสียงที่ฟังระคายหูเป็นพื้น (Dissonance)  วงดนตรีกลับมาเป็นวงเล็กแบบเชมเบอร์มิวสิก    ไม่นิยมวงออร์เคสตรา   มักมีการใช้อิเลกโทรนิกส์    ทำให้เกิดเสียงดนตรีซึ่งมีสีสันที่แปลกออกไป    เน้นการใช้จังหวะรูปแบบต่างๆ บางครั้งไม่มีทำนองที่โดดเด่น    ในขณะที่แนวคิดแบบโรแมนติกมีการพัฒนาควบคู่ไปเช่นกัน   เรียกว่า  นีโอโรแมนติก (Neo-Romantic) กล่าวโดยสรุปคือ โครงสร้างของเพลงในศตวรรษที่ 20  นี้มีหลากหลายมาก    สามารถพบสิ่งต่างๆตั้งแต่ยุค ต่างๆมาที่ผ่านมา    แต่มีแนวคิดใหม่ที่เพิ่มเข้าไป   นักดนตรีที่ควรรู้จักในยุคนี้ คือ สตราวินสกี   โชนเบิร์ก   บาร์ตอก   เบอร์ก   ไอฟส์   คอปแลนด์  ชอสตาโกวิช   โปโกเฟียฟ  ฮินเดมิธ  เคจ  เป็นต้น

ดนตรีสมัยศตวรรษที่ 20 (THE TWENTIETH CENTURY ค.ศ. 1900-ปัจจุบัน)
        หลังจากดนตรีสมัยโรแมนติกผ่านไป ความเจริญในด้านต่าง ๆ ก็มีความสำคัญและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดมา ความเจริญทางด้านการค้าความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ การขนส่ง การสื่อสาร ดาวเทียม หรือ แม้กระทั่งทางด้านคอมพิวเตอร์ ทำให้แนวความคิดทัศนคติของมนุษย์เราเปลี่ยนแปลงไปและแตกต่างจากแนวคิดของคนในสมัยก่อน ๆ จึงส่งผลให้ดนตรีมีการพัฒนาเกิดขึ้นหลายรูปแบบ คีตกวีทั้งหลายต่างก็ได้พยายามคิดวิธีการแต่งเพลง การสร้างเสียงใหม่ ๆ รวมถึงรูปแบบการบรรเลงดนตรี เป็นต้น
จากข้างต้นนี้จึงส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปแบบของดนตรีในสมัยศตวรรษที่ 20

ความเปลี่ยนแปลงในทางดนตรีของคีตกวีในศตวรรษนี้ก็คือ คีตกวีมีความคิดที่จะทดลองสิ่งใหม่ ๆ แสวงหาทฤษฎีใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับความคิดสร้างสรรค์กับสิ่งใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง

ดนตรีในศตวรรษที่ 20 นี้ กล่าวได้ว่าเป็นลักษณะของดนตรีที่มีหลายรูปแบบนอกจากนี้ยังมีการใช้บันไดเสียงมากกว่า 1 บันไดเสียงในขณะเดียวกันที่เรียกว่า “โพลีโทนาลิตี้” (Polytonality) ในขณะที่การใช้บันไดเสียงแบบ 12 เสียง ที่เรียกว่า “อโทนาลิตี้” (Atonality) เพลงจำพวกนี้ยังคงใช้เครื่องดนตรีที่มีมาแต่เดิมเป็นหลักในการบรรเลง

ลักษณะของบทเพลงในสมัยศตวรรษที่ 20
        ดนตรีในศตวรรษที่ 20 นี้ไม่อาจที่จะคาดคะเนได้มากนัก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม คนในโลกเริ่มใกล้ชิดกันมากขึ้น (Globalization) โดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรืออินเตอร์เน็ต (Internet) ในส่วนขององค์ประกอบทางดนตรีในศตวรรษนี้มีความซับซ้อนมากขึ้นมาตรฐานของรูปแบบที่ใช้ในการประพันธ์และการทำเสียงประสานโดยยึดแบบแผนมาจากสมัยคลาสสิก ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและสร้างทฤษฎีขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับ

ดนตรีอีกลักษณะคือ บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นมาเพื่อบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีอีเลคโทรนิค ซึ่งเสียงเกิดขึ้นจากคลื่นความถี่จากเครื่องอิเลคโทรนิค (Electronic) ส่งผลให้บทเพลงมีสีสันของเสียงแตกต่างออกไปจากเสียงเครื่องดนตรีประเภทธรรมชาติ (Acoustic) ที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม การจัดโครงสร้างของดนตรียังคงเน้นที่องค์ประกอบหลัก 4 ประการเหมือนเดิม กล่าวคือระดับเสียงความดังค่อยของเสียง ความสั้นยาวของโน้ต และสีสันของเสียง

ประวัติผู้ประพันธ์เพลง
 1. อาร์โนลด์ โชนเบิร์ก (Arnold Schoenberg,1874-1951)
        เกิดที่กรุงเวียนนาประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 1874 ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์เพลงไว้หลายรูปแบบตามแนวความคิดในช่วงปลายสมัยโรแมนติก โดยเริ่มต้นในฐานะผู้ที่เดินตามรอยของวากเนอร์ (Wagner) สเตราส์ (R.Strauss) มาห์เลอร์ (Mahler) และบราห์มส์ (Brahms) โชนเบิร์กได้ศึกษาดนตรีกับครูอย่างจริงจังเพียงเครื่องไวโอลินเท่านั้น ส่วนเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ เขาใช้เวลาว่างในการฝึกหัดเล่นเอาเองทั้งนั้น ไม่ได้เรียนจากใครเลย แต่เขาก็สามารถเล่นได้ดีทุกอย่าง

สไตล์การแต่งเพลงของโชนเบิร์กเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดยเขาได้ริเริ่มคิดการแต่งเพลงโดยใช้แนวคิดใหม่คือใช้ระบบทเว็ลฟ-โทน (Twelve Tone System) คือ การนำเสียงสูง – ต่ำทั้งหมด 12 เสียง มาเรียงกันเป็นลำดับที่แน่นอนโดยหลีกเลี่ยงไม่ให้มีเสียงหลัก (Tonic) ซึ่งหลักสำคัญคือ ทฤษฏีที่ว่าด้วยเสรีภาพของเสียง และความสำคัญเท่าเทียมกันของเสียงทุกเสียง

ในดนตรี (The Freedom of Musical Sound : The Atonality) อันเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของดนตรี “เซียเรียล มิวสิก” (Serial Music) ซึ่งพัฒนาความคิดรวบยอดของมนุษย์ในปรัชญาดนตรีแห่งศตวรรษที่ 20 ให้ก้าวไกลควบคู่ไปกับวิทยาการสมัยใหม่

โชนเบิร์กใช้ “ระบบทเว็ลฟ - โทน” ในผลงานหมายเลขสุดท้ายของ Five Pieces for Piano ในปี 1923 และในท่อนที่ 4 ของ Serenade ในปีเดียวกัน ผลงานการประพันธ์ชิ้นแรกของโชนเบิร์กที่สร้างขึ้นด้วย “ระบบทเว็ลฟ - โทน” โดยตลอดคือ Suite for Piano ในปี 1924 ระบบ “ระบบทเว็ลฟโทน” กลายเป็นเครื่องมือ
การทำงานของโชนเบิร์กที่เขาใช้ด้วยความชำนาญอย่างน่าพิศวงและไม่ซ้ำซากจำเจ นอกจากประสบความสำเร็จในด้านการต้อนรับของผู้ฟัง

2. เบลา บาร์ตอค (Bela Bartok, 1881-1945)
        เกิดวันที่ 25 มีนาคม 1881 ตำบล Nagyszentmiklos ประเทศ ฮังการี บิดาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนกสิกรรมประจำตำบล มารดา เป็นครู ทั้งพ่อและแม่มีความสามารถทางด้านดนตรี แต่บาร์ตอคไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนจากพ่อเนื่องจากพ่อถึงแก่กรรมเมื่อบาร์ตอคอายุได้ 8 ขวบ
เพลงที่บาร์ตอคประพันธ์ขึ้นมีแนวการประพันธ์เพลงสมัยใหม่โดยใช้เพลงพื้นเมืองของฮังการีและรูมาเนียเป็นวัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งท้ายที่สุดทำให้เขามีกิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่วนานาชาติว่าเป็นผู้รอบรู้ใน ดนตรีพื้นเมืองอย่างดียิ่ง

บาร์ตอคเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีหลักการประพันธ์เพลงเป็นเอกลักษณ์ของตนเองซึ่งทำให้มีชื่อเสียงในฐานะผู้ประพันธ์เพลงชั้นแนวหน้าผู้หนึ่งในสมัยศตวรรษที่ 20

ผลงานของบาร์ตอคที่น่าสนใจมีมากมายได้แก่ โอเปร่า Duke Bluebeard’s Castle, บัลเลท์ The Miraculous Mandarin เปียโนคอนแชร์โต 3 บท ไวโอลินคอนแชร์โต 2 บท สตริงควอเตท 6 บทและดนตรีสำหรับเปียโนอีกมากมาย โดยเฉพาะชุด Mikrokosmos บทเพลงสำหรับฝึกเทคนิคการเล่นเปียโนกว่า150 บท

 3. อีกอร์ สตราวินสกี (Igor Stravinky,1882-1971)
        ผู้ประพันธ์เพลงชาวรัสเซียโดยกำเนิด เกิดวันที่ 17 มิถุนายน1882 ที่เมือง โลโมโนซอบใกล้กับเมืองเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กแล้วย้ายมาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส จากนั้นย้ายมาตั้งรกรากที่สหรัฐอเมริกา พ่อเป็นนักร้องโอเปร่าประจำเมืองเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กและหวังที่จะได้เห็นลูกเรียนจบกฎหมายและทำงานราชการ ชีวิตในตอนเริ่มต้นของสตราวินสกีคล้ายกับไชคอฟสกี้ (Tchaikovsky) ตรงที่ได้เรียนเปียโนตั้งแต่วัยเด็ก โดยที่บิดามารดาไม่ได้หวังให้เอาดีทางดนตรี ดังที่กล่าวข้างต้น เขาได้เรียนการประพันธ์ดนตรีกับริมสกี้ คอร์ชาคอฟ (Rimsky - Korsakov)

งานของสตราวินสกีมีหลายสไตล์เช่น Neo – Classic คำว่า “Neo” แปลว่า “ใหม่” งานสไตล์ “คลาสสิกใหม่” กล่าวคือ คลาสสิกที่คงแบบแผนการประพันธ์เดิมแต่มีทำนอง เสียงประสาน ฯลฯ สมัยใหม่ นอกจากนี้ก็มีสไตล์ อิมเพรสชั่นนิส (Impressionis) ซึ่งมีหลักการสอดคล้องกับงานนามธรรม (Abstractionism) ทางจิตรกรรม

ผลงานแต่ละชิ้นของสตราวินสกีไม่มีซ้ำกันเลยแม้จะเป็นสไตล์เดียวกันก็ตาม เขาพยายามแทรกแนวคิดใหม่ ๆ ในการประสานเสียง การใช้จังหวะลีลาแปลก ๆ และการเรียบเรียงแนวบรรเลงให้เกิดเสียงที่มีสีสรรอันประหลาดลึกล้ำและเขาก็ทำงานด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างสมเหตุสมผลมีผู้กล่าวในทำนองที่ว่าทฤษฎีที่ผิดของสตาวินสกีนั้นเป็นทฤษฎีที่ถูกต้อง เขาเองมีความเชื่อว่าเสียงดนตรีทุกเสียงมีความบริสุทธิ์และมีความสำคัญในตัวมันเองเท่าเทียมกันหมดในทุกกรณี

 4. อัลบาน เบิร์ก (Aban Berg, 1885 - 1935)
        นักประพันธ์เพลงชาวออสเตรียเป็นลูกศิษย์ของโชนเบิร์กและนำเอาหลักการใช้บันไดเสียงแบบ 12 เสียง (Atonality) มาพัฒนารูปแบบให้เป็นของตนเอง เพื่อต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าลักษณะบันไดเสียงแบบนี้สามารถนำมาใช้ในการประพันธ์เพลงให้มีลักษณะเป็นดนตรีที่มีความไพเราะสวยงามและเต็มไปด้วยอารมณ์ในปัจจุบัน เบิร์กเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ประพันธ์เพลงประเภทโอเปร่าและไวโอลินคอนแชร์โต (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 : 180)
 5. เซอร์ไก โปรโกเฟียฟ (Sergei Prokofiev, 1891-1953)
        นักประพันธ์เพลงชาวรัสเซียเกิดวันที่ 23 เมษายน 1891 ทางภาคใต้ของรัสเซีย เริ่มเรียนเปียโนจากมารดาตั้งแต่เด็ก ต่อจากนั้นไม่นานนักเขาก็สามารถประพันธ์ดนตรี ทั้งประเภทดนตรีบรรเลงและดนตรีสำหรับโอเปร่า (Opera) ตั้งแต่อายุเพียง 9 ขวบ

ประวัติการสร้างสรรค์ของเขาเริ่มต้นตั้งแต่เยาว์วัย จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เขาเติบโตมาเป็นคีตกวีเอกคนหนึ่งของโลกคนเราอาจเริ่มต้นดีได้ด้วยกันทั้งนั้น แต่น้อยคนที่จะยืนหยัดได้ตลอดรอดฝั่ง ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นความจริงที่ว่า “สิ่งที่พิสูจน์คุณค่าของคนไม่ได้อยู่ที่ตอนเริ่มแต่ทว่าอยู่ที่ตอนจบ” โปรโกเฟียฟ เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งที่ทำให้ชนรุ่นหลังควรนำมาเป็นแบบอย่างทั้งทางด้านความวิริยะอุตสาหะ ในการฝึกฝนดนตรี

ผลงานที่ประพันธ์ที่สำคัญที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดจำนวนหนึ่งถูกเขียนขึ้นซึ่งรวมทั้งซิมโฟนีหมายเลข 5 ประกอบด้วย นิทานดนตรี Peter and the Wolf บัลเลย์เรื่อง Romeo and Juliet และโอเปร่าเรื่อง War and Peace (ไพบูลย์ กิจสวัสดิ์, 2535 :293)

 6. พอล ฮินเดมิธ (Paul Hindemith, 1895-1963)
        ผู้ประพันธ์ เพลงและนักไวโอลิน วิโอลาชาวเยอรมัน ซึ่งต่อมาได้ย้ายมาตั้งรกรากที่สหรัฐอเมริกา หลังจากนาซีมีอำนาจในยุโรป ฮินเดมิธ ประพันธ์เพลงเด่นในลักษณะของดนตรีสำหรับชีวิตประจำวันมากกว่าดนตรีศิลปะ ที่เรียกว่า “Gebrauchsumsik” ผลงานสองชิ้นของเขายังคงเป็นผลงานดีเด่นที่บรรเลงในการแสดงคอนเสิร์ต คือ Symphonic Mathis der Maler ดัดแปลงจากโอเปร่าของฮินเดมิธเอง และ Symphonic Metamorphose on Themes of Wehse แนวการประพันธ์ของฮินเดมิธได้ยึดหลักการใช้บันไดเสียง 12 เสียง (Atonality) โดยไม่ละทิ้งระบบเสียงที่มีเสียงหลัก ซึ่งฮินเดมิธถือว่าเป็นหลักสำคัญต่างไปจากหลักการของโชนเบิร์ก (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 :181)
7. จอร์จ เกิร์ชวิน (George Gershwin, 1898 - 1937)
ผู้ประพันธ์และนักเขียนเพลง ชาวอเมริกัน เกิดเมื่อวันที่ 26 กันยายน 1898 บิดาเป็นชาวยิวอพยพจากรัสเซีย เกิร์ชวินเริ่มอาชีพเป็นนักเขียนเพลง ในระหว่างปี 1920-1930 เพลงแรกของจอร์จ คือ Since I Found You ซึ่งไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน จอร์จชื่นชมผลงานของเออร์วิง เบอร์ลิน (Irving Berlin) ซึ่งเป็นนักประพันธ์เพลงป๊อปปูล่าสมัยนั้นเพลงที่มีชื่อเสียงเพลงแรกของเบอร์ลิน คือ Alexander’s Ragtime Band

ผลงานชิ้นเอกของเกิร์ชวินได้แก่ Rhapsody in Blue สำหรับเปียโนและวงออร์เคสตราหรือวงดนตรีประเภทแจ๊ส Cuban Overture สำหรับวงออร์เคสตรา Concerto in F สำหรับเปียโนและวงออร์เคสตรา Piano Preludes, Porgy and Bess (Folk opera), An American in Paris งานชิ้นแรกสำหรับเวทีบรอดเวย์คือ La La Lucille นอกจากนี้แล้วผลงานเพลงของเกิร์ชวินถือได้ว่ามีอิทธิพลต่อคีตกวี ในงานดนตรีประเภทที่เรียกว่า “เซียเรียส มิวสิค” (Serious Music) และมีผลต่อดนตรีแจ๊ส (Jazz) การที่ผลงานของเขามีอิทธิพลต่อวงการดนตรีอย่างกว้างขวางนี้แหละที่ทำให้เกิร์ชวิน และคีตกวีเอกอื่น ๆ เป็นผู้ที่ประวัติศาสตร์ดนตรีไม่อาจตัดชื่อของเขาทิ้งไปได้
 8.อารอน คอปแลนด์ (Aaron Copland, 1900-1991)
ผู้ประพันธ์เพลงชาวอเมริกันซึ่งวัตถุดิบในการแต่งเพลงนำมาจากสังคมของอเมริกันเองไม่ว่าจะเป็นเพลงประเภทพื้นเมือง เพลงเต้นรำ ดนตรีแจ๊ส หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ในสังคมอเมริกันผลงานเพลงของคอปแลนด์ประกอบด้วย ดนตรีบัลเลท์ Billy the Kid, Rode และAppalachian Spring เป็นเพลงที่นิยมบรรเลงโดยไม่มีบัลเลท์ประกอบในระยะต่อ ๆ มา เพลงสำหรับออร์เคสตรา El Salon Mexico และ A Lincoln Portrait มีการบรรยายประกอบวงออร์เคสตรานอกจากนี้ยังแต่งเพลงประกอบภาพยนต์อีกจำนวนหนึ่ง
 9. ดมิทรี ชอสตาโกวิช (Dmitri Shostakovich, 1906 - 1975)
        ผู้ประพันธ์เพลงชาวรัสเซีย เกิดที่เซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันที่ 25 กันยายน 1906 เข้าเรียนดนตรีในสถาบันดนตรีแห่ง เซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก ขณะอายุ 13 ปี ได้เรียนเปียโนกับ Nikolaev

ในผลงานของชอสตาโกวิชในระยะแรกมักถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงว่ายากและก้าวล้ำสมัยเกินกว่าความเข้าใจของผู้ฟังที่จะรับได้ ไม่มีลักษณะของชาตินิยมอยู่ในผลงานและเขาเองก็ต้องทนทุกข์กับคำติเตียนอย่างหนักชอสตาโกวิชยึดหลักในการแต่งเพลงที่ต้องการสนองความต้องการของตนเองโดยไม่ละทิ้งความต้องการของประเทศและประชาชนชาวรัสเซีย ผลงานดนตรีส่วนใหญ่ของเขาที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกและประวัติศาสตร์ของรัสเซียต้องยกย่องเขาให้เป็นคีตกวีคนสำคัญทางดนตรีตะวันตกในศตวรรษที่ 20 นี้ นอกจากนี้แล้วทำนองเพลงที่สำคัญของเขาที่เขียนให้กับ
ภาพยนต์เรื่อง Vstrechnyi ได้ถูกนำมาใช้เป็นบทเพลงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Hymn)

ผลงานการประพันธ์ของชอสตาโกวิชที่เป็นผลงานขนาดใหญ่ คือ ซิมโฟนี 15 บท บางบทมีสาระเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและความรักชาติ เช่น หมายเลข 7 Leningrad Symphony (ซึ่งบางส่วนเขียนขึ้นขณะที่เมืองเลนินกราดถูกล้อมในปี 1914 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และเพื่ออุทิศให้แด่ผู้ที่ต่อสู้ป้องกันเมืองเลนินกราด) นอกจากนี้ยังมีเพลงประเภทคอนแชร์โตสำหรับเครื่องดนตรี สตริงควอเตทดนตรีสำหรับเปียโน และโอเปร่าเรื่อง Lady Macbeth of Mt. Sensk District เขียนขึ้นจากงานวรรณกรรมของ Leskov ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Katerina Ismailova เป็นผลงานที่ทำให้ชอสตาโกวิชพบกับความยุ่งยากทางการเมือง มีคนที่จะพยายามใช้คำพูดอธิบายลักษณะดนตรีของชอสตาโกวิช ส่วนใหญ่มักใช้คำว่า “รุนแรง”” เด็ดขาด” ”ชัดเจน”และ “เปิดเผยตรงไปตรงมา”

10. คาร์ลไฮนซ์ สตอคเฮาเซน (Karlheinz Stockhausen1928 - )
        ผู้ประพันธ์เพลงชาวเยอรมัน ซึ่งมีความเพ้อฝันและการสร้างสรรค์เกี่ยวกับดนตรีอย่างมากที่สุดผู้หนึ่งในศตวรรษที่ 20 ส่วนหนึ่งของผลงานการประพันธ์ใช้หลักการของโชนเบิร์ก คือ การใช้บันไดเสียง 12 เสียง (Atonality) การใช้เครื่องดนตรีประเภทอิเลคโทรนิค และพัฒนาความคิดของผู้ฟังให้มีส่วนในการทำความเข้าใจกับดนตรีด้วยตนเอง (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 : 183)
ผลงานของสตอคเฮาเซนประกอบด้วย
- Gruppen สำหรับวงออร์เคสตรา 3 กลุ่ม
- Zyklus สำหรับเครื่องประกอบจังหวะ
- Kontelte สำหรับเสียงอีเลคโทรนิค เปียโน และเครื่องประกอบจังหวะ Hymnen เป็นดนตรีอีเลคโทรนิคโดยนำแนวทำนองของเพลงชาติประเทศต่าง ๆ มาเป็นวัตถุดิบและ Stimmung สำหรับเครื่องอีเลคโทรนิค 6 เครื่อง

สตอกเฮาเซนเป็นผู้ประพันธ์เพลงคนแรกที่พิมพ์โน้ตเพลงอีเลคโทรนิคในรูปแบบของ แผนภูมิ นอกจากเป็นผู้ประพันธ์แล้วเขายังเป็นครูสอนแนวคิดทางดนตรีที่เป็นของตนเองด้วย

 11. ฟิลิป กลาส (Philip Glass, 1937-)
        ผู้ประพันธ์เพลง ชาวอเมริกันผู้ซึ่งในระยะแรกยึดหลักการแต่งแบบมาตรฐานที่ใช้กันมาในสมัยต่าง ๆ หลังจากไปศึกษาเพิ่มเติมด้านดนตรีในปารีส แนวคิดของกลาสเริ่มเปลี่ยนไปในทางสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากรูปแบบมาตรฐาน อย่างไรก็ตามกลาสเลิกจริงจังกับการประพันธ์เพลงไปพักใหญ่ โดยเปลี่ยนไปประกอบอาชีพเป็นคนขับรถแท็กซี่ ช่างไม้ และช่างประปา จนกระทั่งไปพบกับ ผู้ประพันธ์เพลงแนวเดียวกันอีกครั้งหนึ่งกลาสจึงตั้งวงดนตรีที่ประกอบด้วย ออร์แกนอีเลคโทรนิค 2 ตัว ซึ่งกลาสเล่นเอง 1 ตัว ผู้เล่นเครื่องเป่า 4 คน และนักร้องหญิง 1 คน ซึ่งมิได้ถือเป็นการร้องเพลงแต่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง วงดนตรีนี้เล่นเพลงที่กลาสประพันธ์เอง ซึ่งระยะแรกไม่มีผู้สนใจฟังสักเท่าไร แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ฟังเริ่มสนใจและติดตามผลงานของกลาสมากขึ้น

หลักการที่กลาสใช้ในการประพันธ์เพลง คือ การบรรเลงแนวทำนองหนึ่งซ้ำ ๆ กัน และเริ่มบรรเลงแนวทำนองต่อไป ซึ่งพัฒนามาจากทำนองเดิมโดยเพิ่มตัวโน้ตเข้าไปทีละ 2 ตัว และทำเช่นนี้เรื่อย ๆ ไปจนในที่สุดแนวทำนองเดิมจะกลายเป็นแนวทำนองใหม่ที่มีความยาวมากถึงกับมีตัวโน้ต 210 ตัว จากดั้งเดิมมี 8 ตัว

ผลงานของกลาสมีมากมายหลายประเภททั้งโอเปร่า ดนตรีบรรเลงในแนวอีเลคโทรนิค เช่น Music Fifth, Music in Twelve Parts, Music with Changing Parts และโอเปร่า Einstein on the Beach และ Satyagrapha เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น